ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ผู้เดินทางโดยรถไฟ จะสามารถจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้แล้ว โดยการรถไฟฯ จะคิดค่าธรรมเนียมการจอง 20-40 บาทต่อที่นั่ง
เว็บไซต์ www.railway.co.th และ www.thairailwayticket.com จะเป็นช่องทางใหม่ ให้ผู้โดยสารรถไฟ ใช้สำหรับการจองตั๋วโดยสาร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง สามารถชำระค่าตั๋วผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้(60) หลังจากนั้น จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นจองตั๋วโดยสารรถไฟ เพิ่มเติม
เงื่อนไขการจองตั๋วโดยสาร จะให้บริการเฉพาะตั๋วผู้ใหญ่เต็มราคา , ตั๋วเด็ก มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดครึ่งราคา แต่ต้องมีส่วนสูง ไม่เกิน 150 เซนติเมตร ให้บริการจองได้เฉพาะตั๋วรถเชิงพาณิชย์ ไม่รวมขบวนรถนำเที่ยวและรถไฟฟรี คลอบคลุมทุกเส้นทาง โดยมีระยะเวลาการจำหน่ายตั๋วและสำรองที่นั่งได้ล่วงหน้าไม่เกิน 60 วัน จนถึงอย่างช้าก่อนขบวนรถออก 2 ชั่วโมง
และจองซื้อตั๋วได้ 4 ที่นั่งต่อหนึ่งรายการ เมื่อจองแล้วต้องสั่งพิมพ์ตั๋วจากระบบเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในวันเดินทาง ไม่สามารถแสดงผ่านสมาร์ทโฟนได้ โดยสามารถสั่งพิมพ์ตั๋วได้ที่สถานีรถไฟ ค่าธรรมเนียมการจองตั๋ว 20-40 บาทต่อที่นั่ง โดยเป็นค่าธรรมเนียมการใช้บัตรกับสถาบันการเงิน 1 บาท 80 สตางค์
หากต้องการยกเลิกการเดินทางสามารถนำตั๋วรถไฟ ขอเงินคืนได้ที่สถานีรถไฟทุกสถานี จะได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการผ่านช่องทางนี้ มากกว่าร้อยละ 50
ส่วนการประกวดราคารถไฟทางคู่ อีก 5 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จะเปิดให้เอกชนที่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค เสนอราคาในวันที่ 1-2 มีนาคม จากนั้นจะลงนามในสัญญาเพื่อลงพื้นที่ก่อสร้างได้ในวันที่ 26 มีนาคม ตั้งเป้าลดเวลาการเดินทางได้อีก ร้อยละ 20 หลังจากก่อสร้างรถไฟทางคู่เสร็จแล้วในทุกเส้นทาง
ปัจจุบัน มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟในวันธรรมดา ประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 9 หมื่นคนต่อวัน เส้นทางสายเหนือไปจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย ร้อยละ 80 ส่วนเส้นทางอื่นเฉลี่ยร้อยละ 60-70 ขณะที่รถไฟรุ่นใหม่ ที่เปิดให้บริการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเฉลี่ย ร้อยละ 90 ต่อวัน