เมื่อวันที่ 30 ม.ค. รายงานข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แจ้งว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้การก่อสร้างโครงสร้างเสร็จแล้ว เหลือเพียงแต่การติดตั้งระบบการเดินรถ ซึ่งมีความคืบหน้าเพียง 68 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เข้าไปติดตั้งระบบการเดินรถได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การติดตั้งแล้วเสร็จ เนื่องจากต้องการให้กทม.รับโอนโครงการตามสัญญา ทำให้กทม.ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนจากเดิม ในเดือนธ.ค.2559 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน จึงเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มี.ค.2560 ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากคณะผู้บริหารชุดปัจจุบัน ไม่ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการ เพราะเห็นว่า กทม.ไม่มีงบประมาณในการรับโอน ซึ่งการขอรับโอนเป็นการดำเนินของคณะผู้บริหารชุดเก่า นำโดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่ต้องการนำส่วนต่อขยายมาบริหารจัดการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รฟม.ได้สิทธิในการดำเนินโครงการทั้งหมด
รายงานข่าวระบุอีกว่า ต่อมากทม.เป็นผู้เสนอขอดำเนินโครงการดังกล่าวแทน เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการต่อเนื่องจากเส้นทางเดิมที่ดำเนินการอยู่ จึงขอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบ จนกระทั่งมติที่ประชุม คจร. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2558 เห็นชอบให้กทม.เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ หลังจากรฟม.ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2559 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกัน ระหว่างกทม. กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้น ได้เห็นชอบและมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งจัดการติดตั้งระบบเดินรถ จนกระทั่งปัจจุบันการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ แต่กทม.กลับไม่สามารถรับโอนได้
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ทั้งนี้ งบประมาณในการรับโอนโครงการ รวมทั้งสิ้น 84,517.72 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 60,815.72 ล้านบาท ซึ่งกทม.ต้องชำระคืนให้กระทรวงการคลัง และ มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 23,702 ล้านบาท ซึ่งกทม.เป็นผู้ดำเนินการเอง โดยในเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 21,085.47 ล้านบาท มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท ส่วนเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 39,730.25 ล้านบาท มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท โดยงบประมาณจะต้องขอความเห็นชอบจากสภากทม. เนื่องจากสภากทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ไปทำรายละเอียดโครงการ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และกทม.ไม่มีการตั้งงบประมาณที่จะนำมาใช้ในส่วนนี้ จึงต้องพิจารณาว่าจะนำงบประมาณมาจากส่วนใด
“เบื้องต้นอาจจะใช้งบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (ฉบับที่…) ที่มีอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่เงินในส่วนนี้ได้แบ่งให้สำนักการจราจรและขนส่ง ใช้จ่ายในการรับโอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพียง 3,557,053,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามสำนักการจราจรและขนส่ง จะมีการนำรายละเอียดโครงการเข้าสู่การประชุมสภากทม. สมัยสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2560 ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป” รายงานข่าวระบุ.