นับเป็นวัชพืชที่มีคุณค่าทางยามหาศาลสำหรับ “หญ้าดอกขาว” โดยเฉพาะในโหมดช่วยลดความอยากบุหรี่ หลังถูกบรรจุเข้าสู่บัญชีหลักแห่งชาติ ปี 2554 ว่าเป็นวัชพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยลดความอยากบุหรี่ได้ผลดีทีเดียว ทั้งมีสรรพคุณและประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย พบได้ทั่วไปตามริมทางเดิน สนามหญ้า ที่รกร้าง ทุ่งนาชายป่า
เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุ 1-5 ปี จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE) ความสูง 20-80 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านน้อย
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือแหลม ขอบใบหยักหรือจักเป็นฟันเลื่อย สีเขียวเข้ม มีขนทั้งสองด้านใบ
ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นบริเวณปลายยอด ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 20 ดอก ออกรวมกันเป็นช่อแยกแขนง มีใบประดับ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นหลอดยาว สีม่วงอ่อนอมสีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่สีดอกจะจางลง พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว
ผล ชนิดผลแห้งเมล็ดล่อน มีเมล็ดเดียว รูปทรงกระบอกสีน้ำตาลเข้ม เปลือกแข็งแห้งไม่แตก ด้านบนมีขนสีขาวปกคลุม ผลเป็นพู่แตกบาน ช่วยทำให้เมล็ดลอยไปตามลมได้
ขยายพันธุ์ใช้เมล็ด เป็นไม้กลางแจ้งต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง เติบโตได้ตลอดทั้งปี
สรรพคุณ : ตำรายาพื้นบ้าน
– ต้น ใช้ต้น 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ดื่มต่างน้ำชาบำรุงเลือด แก้ตกเลือด บำรุงกำลัง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง โรคกระเพาะ แก้บิด แก้เหน็บชา แขนขาไม่มีแรง รักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดข้อ หากเป็นความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ให้ใช้ทั้งต้นนำมาตากแห้งต้มดื่มเป็นประจำ ฯลฯ
– เมล็ด ป่นชงกับน้ำร้อนดื่มบำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ตัวร้อน แก้หวัดแดด แก้ไข้ทับระดู แก้เจ็บคอ หอบ ขับพยาธิเส้นด้าย รวมไปถึงการช่วยลดเสมหะ น้ำมูกเวลาเป็นหวัด
– ใบมีรสเย็น ต้มน้ำดื่มแก้หืด แก้หลอดลมอักเสบ แก้อาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรือใช้ใบตำผสมกับน้ำนมคน แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ ตำใบพอกปิดแผล สมานแผล แผลบวมอักเสบ ดูดฝีหนอง แก้บวม
– รากต้มน้ำดื่มขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวง ขับระดู ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ทั้งต้น ราก นำมาตากแห้งบดเป็นผง รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ผิวหนังพุพอง ห้ามเลือด ฯลฯ