………………………
วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5 พื้นที่ในจังหวัดสิงห์บุรี ประกอบด้วย ตำบลห้วยชัน, ตำบลทับยา, ตำบลแม่ลา, ตำบลบางกระบือ, ตำบลจักรสีห์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี
นอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชนตลอดสองฝั่งที่ลำน้ำแม่ลาการ้องไหลผ่านในเขตอำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วยผู้บริหารของหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมซักซ้อมความเข้าใจเพื่อจัดทำแผน “พลิกฟื้นฟูลำน้ำแม่ลา การ้อง“ ณ ห้องประชุมอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
โดยที่ประชุมได้ร่วมกันบูรณาการพลิกฟื้นอนุรักษ์ลำน้ำแม่ลาการ้องใน 5 มิติ ประกอบด้วย การประกาศมรดกจังหวัด, แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์, การอนุรักษ์ฟื้นฟูลำน้ำแม่ลา, โคก หนอง นา โมเดล และการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนตามแนวทาง BCG Model
ในระหว่างการประชุม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ เล็งเห็นถึงความสำคัญของลำน้ำแม่ลาการ้อง และร่วมบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามภารกิจของหน่วยงาน อาทิ การฟื้นฟูลำน้ำแม่ลาการ้องและแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบยังพบว่าลำน้ำแม่ลา การ้อง เคยมีมติคณะรัฐมนตรีไว้ตั้งแต่ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ให้เป็นพื้นที่แหล่งธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ (บึงแม่ลา) ลำดับที่ 2 จาก 29 แห่งในเขตภาคกลางของประเทศไทย และมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่น โดยในจังหวัดสิงห์บุรีประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และลำน้ำแม่ลาการ้อง
ซึ่งจะเห็นได้ว่าลำน้ำแม่ลา การ้อง เป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่นทั้งเรื่องความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืช และสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ”ปลาช่อนแม่ลา “ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรสชาติที่อร่อยขึ้นชื่อ เป็นที่รู้กันแพร่หลาย
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบสนองต่อแผนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตื่นตัวในทุกภาคส่วน เพื่อเชื่อมโยงต่อแผนงาน การฟื้นฟูลำน้ำ “แม่ลา การ้อง “ ที่เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ
นายชีวะภาพกล่าวต่อไปว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่า ระบบนิเวศของลำน้ำถือว่าน่าเป็นห่วง ความสมบูรณ์และความหลากหลายของพืชพันธุ์ สัตว์น้ำธรรมชาติ ที่ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ วันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะ “พลิกฟื้นฟูลำน้ำแม่ลา การ้อง“ ให้กลับมาเป็นลำน้ำที่สมบูรณ์ดังเดิม หรือใกล้เคียงแบบเดิมให้มากที่สุด
สำหรับแผนงานที่จะเกิดขึ้น จะมีการกำหนดแนวทางให้ชัดเจน ตามระเบียบ ข้อกฎหมายและหลักวิชาให้มากที่สุด ในแต่ละด้านต่อไป
กชกร พวยไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจ.สิงห์บุรี