ผู้ประกอบการณ์ฟาร์มหมูยอมรับว่า ใช้โคลิสตินผสมลงไปในอาหารหมู เพื่อให้หมูแข็งแรง ไม่เป็นโรค แต่มีการควบคุมปริมาณการใช้กับหมูทุกตัว ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ประจำฟาร์มอย่างเคร่งครัด
แต่สิ่งที่ควรทราบคือ “โคลิสติน” เป็นยาปฏิชีวนะที่รุนแรงที่สุด แพทย์จะใช้ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรักษาอาการป่วยด้วยยาชนิดอื่นๆ อีกแล้ว เรียกได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเลยทีเดียว
ดังนั้น การใช้ยาโคลิสตินพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ “เชื้อดื้อยา” หรือซูเปอร์บั๊ก และนั่นอาจเป็นหายนะของวงการแพทย์ เมื่อถึงช่วงเวลาที่ไม่มียารักษาโรคใดๆ ได้อีกแล้ว
ทำไม ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงใช้ยาโคลิสติน?
ในอดีต ยาโคลิสตินนิยมใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์อย่างหมู วัว และไก่ เพื่อให้สัตว์แข็งแรง มาเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคท้องเสีย และเพราะเป็นยาปฏิชีวนะที่ให้ผลรุนแรงที่สุดในบรรดายาชนิดอื่นๆ จึงนิยมใช้ทั้งนำสมาผสมในอาหาร และฉีดเข้าร่างกายสัตว์ต่างๆ โดยเกษตรกรที่มีความรู้ไม่มากพอ อาจให้ยาโคลิสตินแก่สัตว์เหล่านั้นเกินความจำเป็น กล่าวคือ สัตว์อาจยังไม่ได้ป่วย แต่รีบให้เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจตามมาในอนาคต เพื่อให้สัตว์สุขภาพดี ขายได้ราคา
โคลิสติน กับสัตว์ในประเทศไทย ถูกกฎหมายหรือไม่?
อันที่จริงแล้ว การใช้ยาโคลิสตินกับสัตว์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะให้กิน หรือฉีด หากอยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ จากองค์การอาหารและยา ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย เป็นการซื้อยามาผสมอาหาร และฉีดให้สัตว์เอง จากการเห็นสัตวแพทย์ทำมาก่อน หรือได้รับคำแนะนำมาผิดๆ
อันตรายจากการใช้โคลิสติน
หากสัตว์ได้รับโคลิสตินเกินความจำเป็น จะเป็นการแพร่เชื้อดื้อยา หรือที่ทั่วโลกเรียกกันว่า “ซูเปอร์บั๊ก” หมายถึงเชื้อที่ไม่สามารถถูกทำลาย หรือควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะอีกต่อไป โดยก่อนหน้าที่ที่สหรัฐอเมริกา เคยตรวจพบผู้ป่วยโรคท้องร่วงจากเชื้ออิโคไล ที่เป็นเชื้อที่รุนแรงที่สุด ขนาดที่ใช้ยาโคลิสตินที่แรงที่สุดแล้วยังไม่หาย นอกจากนี้ยังเคยพบเชื้ออิโคไลดื้อยาที่ลำไส้หมูอีกด้วย นี่จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการใช้ยาผิดขนาน ที่อาจทำให้มวลมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตกอยู่ในภาวะอันตราย จากความเสี่ยงในการติดเชื้อที่อาจไม่มียารักษา
นอกจากนี้ โคลิสติน ยังส่งผลข้างเคียงที่อันตรายต่อไต และระบบประสาทอีกด้วย ดังนั้นการใช้ยาโคลิสตินนอกเหนือไปจากการควบคุมของแพทย์ จึงเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ ได้หารือกันเพื่อที่จะยกระดับการใช้ยาโคลิสตินทั้งในคนและในสัตว์ โดยจะต้องถูกควบคุมการใช้โดยสัตวแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผนจะยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินแบบทาน ให้คงเหลือไว้แค่แบบฉีด เพื่อจำกัดการใช้ยาโคลิสตินพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในอนาคต