พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับผู้แทนจากประเทศจีน เมียนมาร์ และ ลาว ปฏิบัติการลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายตามแนวแม่น้ำโขง มุ่งปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ รักษาความปลอดภัยและความมั่นคงเส้นทางการเดินเรือ
วันนี้ (29 มิ.ย.66) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำคณะผู้แทนตำรวจไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ท.ธนธัช น้อยนาค ผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. พล.ต.ต.นพดล กรึงไกร รอง ผบช.ภ.5 และ พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5 เข้าร่วมสังเกตการณ์ “การปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ” ร่วมกับคณะผู้แทนจาก 3 ประเทศประกอบด้วย Mr. Yue Xiuhu รองผู้ว่าราชการมณฑลยูนนาน/หัวหน้าคณะฝ่ายจีน นายบุญธรรม หัวหน้าคณะฝ่ายลาว และ นาย ชิน เม่า โหลน หัวหน้าคณะฝ่ายเมียนมาร์ ณ มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน
การปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ มีระยะเวลาทั้งสิ้น 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2566 มีกิจกรรมประกอบไปด้วย การสาธิตการฝึก ณ กองกำกับตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจคุณหมิง , การสาธิตการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษในการตรวจหายาเสพติด จากกองบัญชาการลาดตระเวนทางน้ำ เมืองจิ้นหง สิบสองปันนา โดยสำหรับการลาดตระเวนทางน้ำนั้น คณะผู้แทนจาก 4 ประเทศ ได้ร่วมลงเรือลาดตระเวน จากท่าเรือจิ้นหง สิบสองปันนา ถึงท่าเรือบ้านมอม แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีกำลังเรือตรวจการณ์ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจากทั้ง 4 ประเทศ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ฯ กล่าวว่า ตลอดห้วง 4 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของทั้ง 4 ประเทศ ร่วมกันปฏิบัติภารกิจด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท ส่งผลให้การลาดตระเวนประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งนอกจาก จะสามารถปราบปรามและสกัดกั้นการลักลอบกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง เช่น กระบวนการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าของเถื่อน การข้ามแดนผิดกฎหมาย รวมทั้งการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แล้ว ยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำให้ประชาชนในพื้นที่ตามแนวแม่น้ำโขง มีความปลอดภัย และส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนอีกด้วย
“การปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศ ขอขอบคุณไปยังคณะผู้แทนจากทั้ง 4 ประเทศ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ช่วยสอดส่องดูแลและแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ นับเป็นการประกอบกำลังของทุกประเทศอย่างสมบูรณ์ ครบวงจร และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน”
การลาดตระเวนตามแนวแม่น้ำโขง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 130 โดยเป็นความร่วมมือของ 4 ประเทศ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 11 ปี
……………………………