เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม (NRCT Open House 2023) ด้านสังคมและความมั่นคง
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมฯ
เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2566 ในรูปแบบ onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ อาคาร วช.1 และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom การถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.)
ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม (NRCT Open House 2023) ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2566 ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่สอง ในด้านสังคมและความมั่นคง กรอบการสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมและความมั่นคง ได้มองถึงประเด็นโจทย์
การวิจัยและความท้าทาย สถานการณ์ภาคแรงงานในภาพรวมของปี 2565 มีการขยายตัวมากขึ้นในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ แต่ในภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวเนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ในมิติต่างๆ ทั้งมิติแรงงาน การจ้างงาน อัตราการว่างงาน ปัญหาหนี้สินครัวเรือน มิติการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มิติการส่งเสริมพฤติกรรมดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งรวมไปถึง อัตราของคดีอาชญากรรมที่ลดลง อุบัติเหตุจราจรทางบกและความปลอดภัยทางถนน โดยการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นชุดข้อมูลที่ต้องการข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการออกแบบนโยบายของภาครัฐและภาคเอกชนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในปี 2567 มีประเด็นการวิจัยของด้านสังคมและความมั่นคงใน 7 โจทย์วิจัยดังนี้
1) การพัฒนาสังคมคุณธรรม
2) การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
3) สังคมไทยไร้ความรุนแรง
4) ความปลอดภัยทางถนน
5) มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์
6) การวิจัยและต่อยอดงานสร้างสรรค์ด้านศิลปกรรม
7) การศึกษาในศตวรรษที่ 21
ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่มีความสำคัญของแผนงาน (ววน.) ที่จะขับเคลื่อนภายใต้กรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566–2570 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในประเด็นต่างๆ ทาง (วช.) มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการวิจัยในด้านสังคมและความมั่นคงให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด สามารถบรรลุตามเป้าหมาย และพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ถัดมา เป็นการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ 2567” มีผู้ร่วมเสวนาและประเด็นเสวนา ดังนี้
ประเด็น “ด้านมนุษยศาสตร์ และการศึกษา” โดย ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี ประเด็น “ด้านสังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดย ศ. นพ.นิมิต เตชไกรชนะ ประเด็น “ด้านสังคมคุณธรรมและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น” โดย คุณวัลลภ นาคบัว ประเด็น“ด้านความปลอดภัยทางถนน” โดย ศ. นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และประเด็น“ด้านศิลปกรรมศาสตร์” โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้นำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ คุณศยามล ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และ “การแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม” ในหัวข้อ “ภาพรวมผลสำเร็จจากผลงานวิจัยนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง” โดย คุณสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 (วช.) นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่างๆ ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเด็น “การศึกษา” และ โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาการศึกษาและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของประเทศไทย”
รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเด็น “มนุษยศาสตร์” และ โครงการวิจัย เรื่อง “เควียร์ อำนาจอ่อน แรงงาน และการแปล: หลังม่าน วาย ในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับชาติ/ข้ามชาติ”
รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็น “สังคมคุณธรรมและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น” และ โครงการวิจัย เรื่อง “การปรับเปลี่ยนคุณธรรมในสังคมไทยท่ามกลางกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ”
ดร.นรบดี สาละธรรม กรมทางหลวงชนบท ประเด็น “ความปลอดภัยทางถนน” และ โครงการวิจัย เรื่อง “การคาดการณ์อุบัติเหตุในขณะใช้ถนนร่วมกัน (Prediction of Road Crash Event)” ผศ.สุรชัย เอกพลากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “ศิลปกรรมศาสตร์” และ โครงการวิจัย เรื่อง “การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนามธรรมด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ร่องลึกด้วยแผ่นอะคริลิค”
ซึ่งกิจกรรมการเสวนาในวันนี้จะนำไปสู่แนวคิดในการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรม ให้กับนักวิจัย และผู้ที่สนใจ ได้เห็นภาพของกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคงในประเด็นต่างๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของ วช. (NRCT Open House 2023) มีประเด็นการชี้แจงกรอบการวิจัยที่น่าสนใจ 9 ด้าน ในระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1) ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน
2) ด้านสังคมและความมั่นคง
3) ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ
4) ด้านการรองรับสังคมสูงวัย
5) ด้านสัตว์เศรษฐกิจ
6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
8) ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และ
9) ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM)
ซึ่งการชี้แจงกรอบการวิจัย ทั้ง 9 ด้าน นั้น จะทำให้นักวิจัยได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญไปสู่การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน