เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2566 ในรูปแบบ onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ อาคาร วช.1 และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom การถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเป็นวันแรกใน “ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ระดับอาเซียน”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.)
เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย
เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566-2570
โดยในปีงบประมาณ 2566- 2570 (วช.) ได้รับมอบหมาย จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ดำเนินการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และ
2) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (วช.) มุ่งมั่นการสร้างนักวิจัยอาชีพที่สามารถสร้างองค์ความรู้และผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไป
ถัดมา เป็นการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ระดับอาเซียน ประจำปี
งบประมาณ 2567” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนาและประเด็นเสวนา ดังนี้ ในประเด็น “ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ในประเด็น “ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์” โดย ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี ในประเด็น “ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี” โดย รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ในประเด็น“ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา และในประเด็น“ด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย” โดย ศ. ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยาโดย และในประเด็น “ด้านเกษตรศาสตร์” โดย คุณสุนันทา สมพงษ์
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้นำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (รอง ผอ.วช.) และ คุณศยามล ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ และการแถลง “ผลสำเร็จจากการดำเนินด้านการพัฒนาศูนย์
กลางกำลังคนระดับสูงและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน” โดย คุณวราภรณ์ สุชัยชิต ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์
การพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง และศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ. พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย” รศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเด็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ประเด็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว” รศ. ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจรไมโครอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย” รศ. ดร.วัชรินทร์ ลอยลม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเด็น “ศูนย์กลางความรู้ด้านการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของโรคมะเร็งท่อน้ำดี” และ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “ศูนย์กลางความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” ซึ่งกิจกรรมการเสวนาในวันนี้จะนำไปสู่แนวคิดในการจัดทำข้อเสนอกิจกรรมฯ ให้กับนักวิจัย และผู้ที่สนใจ ได้เห็นภาพการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของ วช. NRCT Open House 2023 มีประเด็นการชี้แจงกรอบการวิจัยที่น่าสนใจ 9 ด้าน ในแต่ละวัน ดังนี้
1) ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน
2) ด้านสังคมและความมั่นคง
3) ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ
4) ด้านการรองรับสังคมสูงวัย
5) ด้านสัตว์เศรษฐกิจ
6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
8) ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และ
9) ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM)
ซึ่งการชี้แจงกรอบการวิจัย ทั้ง 9 ด้าน นั้น จะทำให้นักวิจัยได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญไปสู่การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน