ศัลยแพทย์ในมณฑลจี๋หลิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกระดูกอ่อนใหม่บนข้อเข่าของผู้ป่วยได้รับความเสียหาย และนับเป็นความสำเร็จในการผ่าตัดลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่
การผ่าตัดด้วยเทคนิคดังกล่าวถูกนำเข้ามาจากเยอรมนี และได้นำไปใช้ดำเนินการจริงในวันที่ 19 มกราคมโดยศาสตราจารย์จางลี่เหิง ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลประชาชนมณฑลจี๋หลิน ภายหลังการผ่าเสร็จสิ้น ผู้ป่วยมีอาการคงที่ และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 1 สัปดาห์
แพทย์ได้ผ่าเอาเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนของผู้ป่วยออกมา เพาะเลี้ยงให้เติบโตนอกร่างกายของเขา โดยหลังจากที่เซลล์ขยายตัวจนกลายเป็นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนใหม่ แพทย์ก็ได้นำมันมาใช้ในการผ่าตัด
กระดูกอ่อนโปร่งใส (Hyaline Cartilage) เป็นเนื้อเยื่อที่แข็งแรงและยืดหยุ่น ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนเบาะรองกระดูกบริเวณข้อต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันเสียดสีกับส่วนอื่นๆ ระหว่างที่มนุษย์กำลังออกกำลังกาย เมื่อเนื้อเยื่อดังกล่าวได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยก็จะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มากเท่าปกติ และจะทุกข์ทรมานจากอาการปวดอย่างรุนแรง หรืออาจถึงขั้นพิการเลยทีเดียว
ความเสียหายของกระดูกอ่อนไม่สามารถแก้ไขด้วยกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายได้อย่างง่ายดาย ในอดีตที่ผ่านมีวิธีรักษาเพียงวิธีเดียวคือ การนำวัสดุอื่นๆ มาใช้แทนเนื้อเยื่อดังกล่าว ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อที่เสียหายได้อย่างเต็มที่
“เมื่อเวลาผ่านไป ช่องว่างระหว่างข้อต่ออาจจะแคบลงหรือสภาพของกระดูกอ่อนอาจจะเลวร้ายลงก็ได้” ศาสตราจารย์จางกล่าวว่า “ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ความเสียหายก็อาจจะนำไปสู่ความพิการ”
แต่เพราะเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อล่าสุด แพทย์จึงสามารถรักษากระดูกอ่อนและความเสียหายของกระดูกข้อต่อให้หายขาดได้อย่างถาวร ศาสตราจารย์จางยังกล่าวเสริมอีกว่า การผ่าตัดด้วยวิธีเจาะฐานกระดูกอ่อนผิวข้อ (Microfracture) ยังทำให้ผู้ป่วยมีรอยแผลจากการผ่าตัดที่บางลงและและเจ็บปวดน้อยลงอีกด้วย