แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ย่านพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อยังอืด ต้องรื้อแผนรอบใหม่รับย้าย-ไม่ย้ายบขส.เหตุหวั่นกระทบปัญหาจราจรช่วงก่อสร้างและเมื่อเปิดให้บริการ จับตาแผนพัฒนาแปลง A และ กม.11 โดนใจนักลงทุนจริง คาดเสนอบิ๊กคมนาคมไฟเขียวสัปดาห์หน้า
นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย ว่าแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อและย่านพหลโยธินทั้ง 1,200 ไร่ยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าผลการศึกษาแปลง A และพื้นที่ กม.11 จะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณาแล้วก็ตาม
โดยเฉพาะแปลง B ที่มีพวงรางรถไฟหลายเส้นทางยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันดังนั้นการพัฒนาจึงต้องพิจารณาหลายด้านอย่างรอบคอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นปมปัญหาผลกระทบด้านจราจรทั้งภายในโครงการและภายนอก และปมปัญหาการใช้งานพวงรางต่างๆ โดยปัญหาจราจรนั้นมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับไปดำเนินการแก้ไข ส่วนการโอเปอเรชันยังพอมีแนวทางแก้ไขได้ง่ายกว่า
ทั้งนี้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะมีการจัดประชุมช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทั้งโครงการสถานีกลางบางซื่อและโครงการย่านพหลโยธิน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเชิงลึกถึงแนวทางดำเนินการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
“หวั่นว่าจะไปเกิดผลกระทบช่วงการตอกเสาเข็มโครงการ หากกระทบต่อการโอเปอเรชั่นอาจจะกระทบโครงการให้ล่าช้าได้หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะกับผู้ลงทุน กระทบต่อการบริหารสัญญาที่จะไม่เป็นไปตามแผนพัฒนาโครงการเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจะมีการพัฒนาในหลายส่วนไปพร้อมกันจึงป้องกันเอาไว้ก่อนได้ซึ่งหาก ร.ฟ.ท.มีงบประมาณจำนวนหลักพันล้านบาทก็น่าจะตอกเข็มรองรับไว้ก่อน แต่เอกชนก็ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับเข็มที่ตอกรองรับเอาไว้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางมากถึง 78 ไร่”
นอกจากนั้นยังมีปัญหาการพัฒนาพื้นที่แปลง C ที่บริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.) ใช้งานในปัจจุบันหากย้ายออกไปก็จะพัฒนาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ล่าสุดนโยบายจะไม่ย้ายออกไปจึงต้องวางแผนใหม่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านจราจรที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีรถหลายประเภทเข้ามาใช้บริการในพื้นที่อาทิ รถตู้ รถมินิบัส รถแท็กซี่ ถนนกำแพงเพชรและกำแพงเพชรสองสามารถรองรับได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัจจัยความเสี่ยงจึงมีผลกระทบมากมาย
ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาแปลง A นั้นยังมีแผนปรับแบบให้สามารถเชื่อมกับสถานีกลางบางซื่อได้อีกด้วย โดยผนังด้านทางฝั่ง A จึงปรับระยะเวลาให้สอดคล้องกัน อีกทั้งยังจะมีหน่วยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาใช้พื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วยจึงต้องรอบคอบในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว
“ในส่วนแผนการพัฒนาย่านพหลโยธินยื่นให้กระทรวงคมนาคมเร่งนำเสนอ สคร.พิจารณาแล้ว ก่อนเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติต่อไป ส่วนรูปแบบยังจะเน้นเรสิเดนเชียลด้านที่อยู่อาศัยและออฟฟิศสำนักงานให้เช่า ส่วนคอมมิวนิตีมอลล์ต่างๆเพียงเข้ามาเสริมศักยภาพพื้นที่เท่านั้น ส่วนโครงการทาวน์สแควร์เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท. ปรับสัญญาให้แล้ว โดยคณะกรรมการบอร์ดร.ฟ.ท. เห็นชอบระยะเวลา 15 ปี เช่นเดียวกับโครงการอินสแควร์นั้นบริษัทเจ้าของโครงการยังจ่ายค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท.ตามปกติ รับมอบการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่บริษัทจะไปมีปัญหากับผู้เช่าพื้นที่โครงการยังอยู่ระหว่างกระบวนการฟ้องร้องคดีต่อกัน เบื้องต้นพบว่าสัญญาเช่าต่อ ร.ฟ.ท.ยังไม่มีปัญหาใดๆ”
แหล่งข่าวด้านที่ปรึกษาโครงการรายหนึ่งกล่าวว่าขณะนี้ความชัดเจนด้านการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินได้นำประเด็นการย้าย-ไม่ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิตไปประกอบการพิจารณาซึ่งจะมีการหารือร่วมกอบรัฐมนตรีให้ชัดเจนโดยเร็วต่อไป ว่าจะกระทบผังและแผนเดิมหรือไม่อย่างไรบ้าง
“เป็นห่วงว่าจะกระทบแผนการบริหารจราจรในโครงการ คณะกรรมการด้านบูรณาการแผนที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาว่าจะกระทบอย่างไรบ้างหากสถานีขนส่งหมอชิตยังอยู่ที่เดิม การก่อสร้างทางขึ้น-ลงทางด่วนศรีรัชและทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ก็มีแผนเร่งดำเนินการ ดังนั้นการพัฒนาโครงการคงจะต้องพิจารณาใหม่ทั้งหมด อาทิ ที่จอดรถจะรองรับได้อย่างไร เป็นต้น เพราะปัจจุบันถนนกำแพงเพชรสภาพการจราจรติดขัดสาหัสมากดังนั้นจึงต้องหาทางเร่งระบายหรือมีเส้นทางเข้า-ออกให้ชัดเจนและให้มากที่สุดซึ่งผลการทบทวนโครงการจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ก่อนจะนำเสนอรัฐมนตรีต่อไป ส่วนการนำเสนอสคร. เบื้องต้นนำแปลง A เสนอไปแล้วส่วนแปลง B,C,D ยังรอความชัดเจนการพัฒนาพื้นที่ ล่าสุดยังมีแนวคิดนำบขส.-ขสมก.ไปอยู่ในพื้นที่ใกล้สถานีกลางบางซื่อซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียดผังและแผนการพัฒนาให้ชัดเจนใน 1-2 สัปดาห์นี้”