วันที่ 1 มิถุนายน 2566 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ยกย่องให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลโลก เนื่องจากคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นความดีสากล ที่ทุกคนปฏิบัติได้ เช่น ความรัก ความเมตตา กรุณา ความปรารถนาดี ให้อภัย ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และปรัชญาการทำงานของ UN ดังนั้น UN จึงยกย่องและสนับสนุนให้กับคำสอนดีๆ สู่ชาวโลก เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขและสันติภาพโลก และในโอกาสสัปดาห์วิสาขบูชานี้ กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำประเทศไทย แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้จัดประชุมเสวนา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของ 2 ชาติ ทั้งชาวไทยและอุซเบกิสถาน
สถานกงสุลอุซเบกิสถานในไทย นำโดย นายเฟดดริกคิน โซมานอฟ กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย จัดงานวิสาขบูชา ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดย เป็นการสัมมนา เรื่อง ความงดงามพุทธศาสนาในอุซเบกิสถาน เริ่มจากการกล่าวต้อนรับโดย นายเฟดดริกคิน โซมานอฟ กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญเนื่องในวันวิสาขบูชา อันเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า รวมถึงเชิญชวนให้ทุกคน ได้เยี่ยมชมพุทธสถานหลายแห่งใน อุซเบกิสถาน โดยมีการนำเสนอเรื่องราวของอารยธรรมพุทธศาสนาในอุซเบกิสถาน ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะ สถูป ใน Fayaz-Tepe แหล่งโบราณคดีพุทธในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งสร้างเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว และรูปทรงคล้ายคลึงกับ พระมหาธรรมกายเจดีย์ ณ วัดพระธรรมกาย ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ความรู้เกี่ยวกับ “อุซเบกิสถาน” ส่วนใหญ่มาจากเรื่องราวของ เอเชียกลาง เส้นทางสายไหม ศิลปะคันธาระ พระเจ้ากณิษกะ พระพุทธศาสนา และ สถูปทรงครึ่งวงกลม ที่ดูเด่นสะดุดสายตาชาวโลก การที่ทางกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำประเทศไทย ได้จัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการท่องเที่ยว และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างประเทศไทยและอุซเบกิสถาน รวมทั้ง ชาวพุทธทั่วโลกที่จะได้เดินทางไปเยี่ยมเยืยนพุทธสถานโบราณ และศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป
ในงานมีวิทยากรให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์หลายท่านอาทิ พระ ดร.พรชัย พลวธมฺโม ประธานองค์การพุทธโลก ที่ได้นำเสนอประสบการณ์ที่เคยเดินทางเยือน อุซเบกิสถาน เมื่อ 4 ปีก่อน และได้เยี่ยมชม พุทธสถานหลายแห่ง พร้อมได้นำเสนอ ให้หน่วยงานรัฐบาล ได้ประชาสัมพันธ์ ดูแล พุทธสถาน ให้เป็นสมบัติของชาติ ที่ทุกๆคนมีความเป็นเจ้าของ เพื่อดึงดูด นักท่องเที่ยวทั่วโลก เหมือน เจดีย์บรมพุทโธของอินโดนีเซีย ที่ทุกคนในชาติ ถือเป็นแหล่งอารยธรรมของประเทศ เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่มาบรมพุทโธ กว่า 70% ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน
จากนั้น เป็นการบรรยายให้ความรู้ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุกันดาย่า ในประเด็นศักยภาพในการท่องเที่ยวแสวงบุญ ใน จ. สุกันดาย่า , ผู้แทนหน่วยงาน มรดกทางวัฒนธรรมอุซเบกิสถาน ในประเด็น การฟื้นฟู ,การขุดค้น และการอนุรักษ์ มรดกทางพระพุทธศาสนา, ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอุซเบกิสถาน ในประเด็น อุซเบกิสถาน ทางแยกแห่งอารยธรรม , ผู้แทนกรมศิลปากร ประเทศไทย ในประเด็นของ ความร่วมมือในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ , ผู้แทนมหาวิทยาลัยทาชเค้นท์ ในอุซเบกิสถานในประเด็น เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว , ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นของ นวัตกรรม ผ่านการเชื่อมความหลากหลายของอารยธรรม , ผู้แทนพิพิธภัณฑ์โบราณคดีในเตอร์เมซ ในประเด็น ความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในประเทศไทย เป็นต้น
อุซเบกิสถาน เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียกลาง และในเส้นทางสายไหม พุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก ในยุคของราชวงศ์กุษาณะ พระถังซำจั๋ง ได้บันทึกถึงความศรัทธาของกษัตริย์ ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนา ในดินแดนแห่งนี้ ปัจจุบันพบพุทธสถาน หลายแห่ง โดยเฉพาะ เมืองเตเมซ เมืองสมากานด์ และ จังหวัดสุกันดาย่า ในปัจจุบัน อุซเบกิสถาน จึงเปิดประเทศสู่การท่องเที่ยวเชิงพุทธ ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย เริ่มให้ความสนใจและไปท่องเที่ยวตามแหล่งอารยธรรมพุทธสถานโบราณ ซึ่งถือเป็น มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางพระพุทธศาสนา (Buddhist Heritage) ที่สำคัญเป็นจำนวนมาก.
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี