วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) หน่วยงานภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวยาสีฟันต้นแบบด้วยนวัตกรรมนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ที่ช่วยในการสะสมแร่ธาตุคืนกลับสู่ผิวเคลือบฟัน ภายใต้โครงการผลักดันและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพช่องปากของประชาชนคนไทย ด้วยการสร้างนวัตกรรมทางทันตกรรมโดยทันตแพทย์และนักวิจัยไทยที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) (สวทช.) กล่าวว่า ปัญหาโรคฟันผุในเด็ก ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพช่องปากต่างๆ ที่จะตามมาในระยะยาว ปัจจุบันนี้มีเด็กไทยที่มีปัญหาฟันผุมากกว่าร้อยละ 50 และมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ใหญ่มีปัญหาโรคเหงือกอักเสบ จากการขาดการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการวิจัยและพัฒนา ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ เป็นการร่วมวิจัยพัฒนา ทดสอบ ออกแบบและผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน เพื่อใช้ในการรักษาอาการฟันผุในระยะเริ่มต้น รวมถึงปัญหาที่เกิดจากการขาดการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ที่สามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตได้ ซึ่งวัสดุนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ เกิดจากการพัฒนาโดยทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน A-MED (สวทช.) ที่มีองค์ความรู้รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์สำหรับใช้กับร่างกายมนุษย์ ผนวกกับองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน โดยนวัตกรรมนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ เป็นสารประกอบแคลเซียมฟอสเฟตรูปหนึ่ง ซึ่งมีโครงสร้างแบบเดียวกับกระดูกและฟันของมนุษย์ เป็นการพัฒนาด้วยกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีเชิงกล โดยมีคุณสมบัติเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์และสามารถช่วยในการสะสมแร่ธาตุคืนกลับสู่ผิวเคลือบฟัน ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นองค์ประกอบเสริมในยาสีฟัน โดยเฉพาะไฮดรอกซีอะพาไทต์ที่มีขนาดอนุภาคในระบบนาโนเมตร ซึ่งการที่นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาสารนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ได้นั้น ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยวัสดุทางการแพทย์ที่มีคุณภาพที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ และคงไว้ซึ่งมาตรฐานทางการแพทย์ระดับสากล สอดคล้องกับเป้าหมายนโยบาย BCG สาขาเครื่องมือแพทย์
ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมอีกขั้นหนึ่ง ที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาวิธีการเตรียมผงนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์สำหรับนำมาใช้เป็นองค์ประกอบเสริมในยาสีฟัน ที่จะช่วยส่งเสริมคุณสมบัติของยาสีฟันในการกลับคืนแร่ธาตุของชั้นเคลือบฟัน ผ่านกลไกการปลดปล่อยแคลเซียมไอออนและฟอสเฟตไอออน และเกิดเป็นแคลเซียมฟอสเฟตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถตกตะกอน เข้าไปในพื้นผิวฟันได้ โดยตะกอนของแคลเซียมฟอสเฟตสามารถแตกตัวในน้ำลายเพื่อเป็นไอออนอิสระที่จะช่วยในการสะสมแร่ธาตุสู่ผิวเคลือบฟันได้อย่างรวดเร็ว และสามารถคงอยู่เพื่อให้เกิดการคืนกลับแร่ธาตุของฟัน ผ่านองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย A-MED (สวทช.) และทีมวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดงานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีมูลค่าสูงขึ้นและเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
อ.ทพ.ดุสิต นันทพิบูล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทันตวัสดุ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ มีข้อดีคือมีโครงสร้างใกล้เคียงกับกระดูกและฟันของมนุษย์ ซึ่ง ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์ นักวิจัยอาวุโสศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (สวทช.) ใช้เทคนิคที่ทำให้เป็นผงและสามารถผลิตเป็นส่วนผสมของยาสีฟันได้ โดยเติมนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ 5% และ 10% เพื่อดูว่าจะสามารถมีประสิทธิภาพป้องกันฟันพุได้ และยังได้มีการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์เทียบกับยาสีฟันที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งพบว่าต้นแบบยาสีฟันทำให้เซลล์ตายได้น้อยกว่า และการผสมนาโนไฮดรอกซีอะพาไทต์ในยาสีฟัน ยังช่วยคืนกลับแร่ธาตุได้ ซึ่งมีการทดสอบการแปรงฟัน 15 วันต่อเนื่องในห้องปฏิบัติการ พบว่าพื้นผิวฟันมีความแข็งและเรียบมากขึ้น ซึ่งยาสีฟันนี้เหมาะสำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่ฟันขึ้นซี่แรกขึ้นในช่องปากเป็นต้นไป ปัจจุบันต้นแบบยาสีฟันนี้อยู่ระหว่างการขอ (อย.) ก่อนผลิตและจำหน่ายภายในปลายปี 2566 นี้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน