มื่อวันที่ ( 29พ.ค.66 ) ผ่านมา เวลา 08:30 น. ชป.กร.ร่วม8 พร้อม ชป.กร.ร่วม10 ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน และ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสะพานมอญ เขต 1 ลงพื้นที่ ช่วยกันขนย้ายเตียงจากผู้ป่วยจาก ชุมชนราชบพิตรเพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงใน ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ.
ทั้งนี้ประวัติของพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และประวัติชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ความเป็นมาดังนี้
- พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ) ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ.2403 เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหุ่น (ท้าวทรงกันดาล) ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญของแผ่นดินหลายย่าง เช่น เสนาบดีที่ปรึกษา มหาเสวกเอก สมุหมนตรี รัฐมนตรี องคมนตรี สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2458 เวลา 15.02 น. สิริพระชนมายุได้ 55 พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล “สวัสดิกุล”
เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงมีพระเมตตามาก ทรงโปรดให้ตามเสด็จออกฝ่ายหน้าได้อย่างใกล้ชิด ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าประทาน ม.จ.พูนพิสมัยว่า “…สมัยเด็ก ๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระราชโอรส พระราชธิดาเล็ก ๆ ตามเสด็จในรถด็อกการ์ด (Dog cart) เวลาทรงพระราชยานพระองค์จะประทับข้างพระบาทสมเด็จพระราชบิดาคู่กับเสด็จลุง กรมพระสมมตอมรพันธุ์…”
เมื่อทรงพระชนมายุได้ 5 พรรษา ท่านเริ่มทรงศึกษาหนังสือไทยในพระบรมมหาราชวังในสำนักของหม่อมเจ้าจอ พระโอรสในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และทรงศึกษาภาษามคธ (บาลี) ในสำนักของพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในสำนักของนายฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์สัน (Francis George Pattersons) ในโรงเรียนหลวง
เมื่อพ.ศ.2416 ทรงผนวชสามเณรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสและกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา หลังจากลาผนวชสามเณรแล้ว ได้ทรงศึกษาภาษาไทย เลข และภาษามคธต่อมาในสำนักขุนปรีชานุสรณ์ (โต เปรียญ) อยู่ที่วังของกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทำให้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงเชี่ยวชาญในทางภาษามคธมาก โดยในพ.ศ.2547 ครั้งที่พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีสิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ จัดงานพระศพที่พระราชวังบางปะอิน ทรงอาราธนาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้า ทรงแปลอรรถกถาเอกนิบาตชาดก เพื่อพิมพ์เป็นของพระราชทานในงานพระศพโดยมีพระราชาคณะ เปรียญบางรูป ช่วยแปล สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงขอร้องให้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ช่วยแปลด้วย และเมื่อทรงตรวจเรื่องที่กรมพระสมมตอมรพันธุ์แปลถวายนั้นแล้ว ได้ประทานลายพระหัตถ์ยกย่องไว้ว่า
จากพระปรีชาสามารถที่ทรงรอบรู้ภาษามคธอย่างเชี่ยวชาญทำให้พระองค์ได้รับยกย่องว่าทรงเป็นบัณฑิตทางอรรถคดีธรรมจารีตในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพัดยศเทียบเท่าเปรียญ 5 ประโยคแก่พระองค์ด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้เริ่มรับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยปฏิบัติราชการในหลายตำแหน่งโดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับกับด้านวรรณกรรม ภาษา ตำแหน่งที่สำคัญตำแหน่งหนึ่งคือ ตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ซึ่งปฏิบัติงานในปี 2453 จากนั้นทรงเป็นเสนาบดีที่ปรึกษากรมราชเลขานุการและพระคลังข้างที่ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ในปี 2458
- พื้นที่วังที่ประทับพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
วังทรงประทับของพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ตั้งอยู่ริมพระนครด้านตะวันออก โดยในเป็นพื้นซึ่งได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 4 วังของท่านตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของตึกแถวถนนบำรุงเมืองใกล้กับพื้นที่ริมพระนครย่านสำราญราษฎร์ อาคารที่ยังคงปรากฏตั้งอยู่เป็นพระตำหนักที่เจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงสร้างประทานให้แก่หม่อมเจ้ามงคลประวัติ สวัสดิกุล บุตรคนที่สามของพระองค์ โดยอาคารพระตำหนักใหญ่และอาคารอื่น ๆ ได้รื้อถอนไปจนหมดแล้ว
พื้นที่วังของพระองค์เป็นที่ดินพระราชทานในสมัยรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยเป็น 1 ใน 18 วัง ที่สร้างขึ้นใหม่สำหรับสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอ แรกเริ่มนั้นพระองค์ได้สร้างเป็นเรือนไม้ใช้ประทับอยู่กับมารดาของพระองค์ ก่อนที่ต่อมาจะปรับเป็นอาคารตึกในพ.ศ.2427 ในรัชสมัยรัชกาลพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และต่อมามี ตำหนักเล็กที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2450 โดยพระองค์ประทับอยู่ที่วังแหง่นี้จนกระทั่งสิ้นทรงสิ้นพระชนม์ ต่อมาตำหนักใหญ่จึงเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุลพระโอรสองค์โต และตำหนักเล็กที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2450 นั้นเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้ามงคลประวัติ สวัสดิกุล
พระตำหนักใหญ่สังเกตเห็นได้เด่นชัดตั้งอยู่ด้านหลังแถวตึกแถวถนนเจริญกรุง ฝั่งสำราญราษฎร์ วังของพระองค์ด้านหนึ่งติดกับถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นถนนที่ปรับปรุงมาจากถนนเสาชิงช้าในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้พระราชทานนามถนนใหม่ว่า “ถนนบำรุงเมือง” ต่อมา เมื่อพ.ศ.2413 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงถนนบำรุงเมืองอีกครั้ง ให้ตรงได้แนวกับวัดสุทัศน์เทพวราราม ขยายถนนให้กว้างขึ้น เดินท่อประปา พร้อมกันนั้นโปรดให้รื้อตึกแถว 2 ฟากถนน ซึ่งเจ้าของที่ดินสร้างขึ้นไว้ไม่ได้ขนาดและเหลื่อมล้ำกัน ให้สร้างตึกแถวขึ้นใหม่ใช้แบบแปลนของหลวงแบบเดียวกันหมด การตัดถนนบำรุงเมืองตอนแรกและสร้างตึกแถวแล้วเสร็จ เมื่อพ.ศ.2415 ต่อมาในพ.ศ.2444 ตัดและขยายถนนบำรุงเมืองตอนที่ 2 ตั้งแต่ ประตูสำราญราษฎร์ (ประตูผี) ถึงแยกกษัตริย์ศึก ในครั้งนี้ โปรดให้รื้อประตูสำราญราษฎร์ และสร้างสะพานสมมตอมรมารคข้ามคลองรอบกรุง - สะพานสมมตอมรมารค (สม-มด-อะ-มอน-มาก) เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) ตรงบริเวณประตูผี (ประตูสำราญราษฎร์) ที่ถนนบำรุงเมือง เชื่อมระหว่างถนนมหาไชยกับถนนบริพัตร ในพื้นที่เขตพระนครและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สะพานแห่งนี้นั้นเดิมมีสะพานไม้เก่าแต่ครั้งโบราณอยู่ก่อนแล้ว เป็นสะพานโครงเหล็กรองรับเพื่อให้แข็งแรงและชักเลื่อนออกจากกันได้ เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์หากมีข้าศึกมาประชิดพระนคร และเพื่อให้เรือกระบวนแห่ผ่าน เช่น กระบวนแห่เสด็จฯ ทอดผ้าพระกฐิน
สะพานแห่งนี้เป็นสำคัญที่ราษฎรใช้เข้าออกกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการนำศพออกไปฝังหรือเผานอกพระนครตามกฎหมายหรือประเพณียุคนั้นที่ว่า หากมีผู้ตายลงต้องนำศพออกไปปลงนอกพระนคร สะพานเดิมจึงอยู่ตรงประตูซึ่งราษฎรเรียกติดปากกันมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 1 ว่า “ประตูผี” เพราะเป็นประตูหามผีออกไปป่าช้านอกพระนคร แต่ชื่อทางการคือ “ประตูสำราญราษฎร์”
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2444 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนบำรุงเมือง ตอนที่ 2 ตั้งแต่บริเวณประตูผีต่อเนื่องไปจนถึงถนนกรุงเกษม (บริเวณแยกกษัตริย์ศึกในปัจจุบัน) พร้อมกับการตัดถนนบาตรขึ้นที่เชิงสะพานด้านทิศตะวันออก รางเหล็กของสะพานเดิมกีดขวางหัวถนนใหม่ จึงมีพระบัญชาให้กระทรวงโยธาธิการออกแบบและก่อสร้างสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างใหม่ ดังความในกระแสรับสั่งที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2444 ตอนหนึ่งว่า “…ด้วยตพานสมมตอมรมารค มีรูปร่างเก่าเกินเวลา แล้วมีรางสำหรับเลื่อนยื่นออกมาเกะกะกีดกับถนนซึ่งจะติดขึ้นใหม่ ทั้งบัดนี้ก็เก่าคร่ำมากอยู่แล้ว มักมีอันตรายแก่รถที่จะขึ้นลงควรเปลี่ยนเสียใหม่ เหนว่าถ้าร่างตพานเหล็กเดิมนั้น จะเปลี่ยนแปลงใช้เปนตพานอย่างใหม่ได้…ก็ควรจะใช้…” และพระราชกระแสรับสั่งกับพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า “…ตพานสมมตอมรมารคชำรุดน่ากลัว อันตรายมาก กรมศุขาภิบาลจะซ่อม ฉันได้ห้ามไว้ เพราะเห็นว่าตพานนี้พ้นวิไสยที่จะซ่อม 1 ด้วยรูป ของตพานเดิมเดี๋ยวนี้ ถึงว่ามั่นคงดีอย่างไรก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดอันตรายได้ … ฉันจึงห้ามไม่ให้ซ่อม แต่ได้สั่งให้กรมโยธาคิดตัวอย่างทำใหม่ทีเดียว…”
พร้อมกันนี้ในสมัยเดียวกัน กรมโยธา กระทรวงโยธาธิการ ได้ดำเนินการรื้อประตูสำราญราษฎร์ ประตูช่องกุฎิ และกำแพงพระนครรอบ ๆ ลง แล้วก่อสร้างสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างในบริเวณนี้ขึ้นใหม่ แล้วเสร็จราว พ.ศ.2444 โดยยังคงเป็นสะพานโครงเหล็ก พื้นปูด้วยไม้ แต่ไม่สามารถเลื่อนเปิดปิดได้อีกต่อไป และได้รับพระราชทานชื่อว่า “สะพานสมมตอมรมารค” เพื่อเช่นเดิมเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เนื่องจากสะพานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวังที่ประทับพระองค์
สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมสะพานสมมตอมรมารคอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากสะพานโครงเหล็กพื้นไม้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบวางบนเขื่อนอิฐ กลางสะพานจารึกนามว่า “สะพานสมมตอมรมารค” พนักราวสะพานทั้งสองข้างเป็นลูกกรงปูนปั้นลายวงกลมพันเกี่ยวกัน 5 วง แต่ละช่องกั้นด้วยรูปจำลองเสาไอโอนิคขนาดเล็ก ส่วนปลายพนักสะพานทั้งสี่ด้านทำเป็นลายขดตามสถาปัตยกรรมแบบโรมัน - การเปลี่ยนแปลงพื้นที่วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ หลังจากพระองค์กรมพระสมมตฯ สิ้นพระชนม์ ในปี 2458 ได้แบ่งพื้นที่วังออกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือพื้นที่หนึ่งให้แก่ ม.ร.ว.สดถิ์ศรี สวัสดิกุล พระนัดดา พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักใหญ่ให้แก่ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล พระโอรสองค์โต และพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักเล็กได้ให้หม่อมเจ้ามงคลประวัติ สวัสดิกุล พระโอรสองค์เล็ก ซึ่งพระตำหนักเล็กยังคงปรากฎมาถึงปัจจุบัน ในบริเวณของวังกรมพระสมมตอมรพันธ์มีเรือนของเหล่าบริพารในพระองค์สร้างขึ้นโดยรอบ โดยอาจมีมาแต่ราวสมัยรัชกาลที่ 5 และรวมไปถึงห้องแถวในบริเวณพื้นที่ โดยข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไปได้อาศัยเช่าอาศัยห้องแถวเหล่านี้อยู่ต่อมา ทั้งนี้ที่ดินด้านหน้าของชุมชนนั้นเป็นของเอกชนส่วนหนึ่งและวัดเทพธิดารามส่วนหนึ่ง จนต่อมาในราว หลังปีพ.ศ.2475 จากคำบอกเล่าของชุมชนกล่าวว่าเคยใช้เป็นที่พักของสถานีตำรวจสำราญราษฎร์อยู่พักหนึ่ง ภายหลังประชาชนทั่วไปก็เริ่มเข้ามาซื้อสิทธิ์อยู่อาศัยต่อ บ้างค้าขายไข่จนเรียกว่า เรียกว่าตรอกไข่ บ้างทำเครื่องหวาย บ้างประกอบอาชีพเย็บผ้าเหลือง ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ก่อนที่จะเริ่มมีการขยายตัวไปอยู่บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า พื้นที่รอบ ๆ วังพระสมมตอมรพันธ์เริ่มมีผู้คน ข้าราชการต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัย โดยในช่วงทศวรรษที่ 2490 พื้นที่ทั้งบริเวณวังพระสมมตอมรพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรียนสำคัญโรงเรียนหนึ่งในเขตพระนคร คือ โรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัย กินบริเวณตั้งแต่พื้นที่ของ ม.ร.ว.สดถิ์ศรี สวัสดิกุล พระนัดดา และพื้นที่บริเวณพระตำหนักใหญ่ ส่วนพื้นที่พระตำหนักของหม่อมเจ้ามงคลประวัติต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของโรงเรียนเลิศประสาทวิชา ซึ่งได้เลิกกิจการไปในพ.ศ.2520 อันมีนางอุไรวรรณ ภูมิรัตน์ เป็นอาจารย์ใหญ่
โรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัยนี้มีความเกี่ยวพันธ์ในครั้งแรกเริ่มกับโรงเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งเมื่อครั้งที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การเรียนการสอนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ต้องหยุดลงเนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดยุทธศาสตร์ในการทิ้งระเบิดอย่างมากที่บริเวณโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ในเวลานั้นครูจิตร และครูเอิบ แห่งโรงเรียนอำนวยศิลป์ให้ครูและบุคคลากรของโรงเรียนอำนวยศิลป์ไปพักที่พระตำหนักเก่าของพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งกล่าวว่าท่านได้รับมรดกพื้นที่แห่งนี้มา
พื้นที่พระตำหนักของกรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้เปิดเป็นหอพักนักเรียนและเป็นที่สอนพิเศษมาตั้งแต่ปี 2490 ต่อมานายชลอ จินดาสิริ เจ้าของโรงเรียนอำนวยศิลป์ รวมถึงครูจิตรและครูเอิบ ได้รับมอบกิจการของโรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน มาเปิดการเรียนการสอนที่พื้นที่วังของกรมพระสมมตอมรพันธุ์แห่งนี้ โดยได้เปิดทำการตั้งแต่ปี 2491 โดยมีครูลินจง สาริกะ เป็นครูใหญ่คนแรก โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัยเช่นเดิม โดยต่อมากิจการโรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัยได้เจริญขึ้นตามลำดับ โดยได้สร้างอาคารต่าง ๆ ขึ้นในพื้นที่ถึง 6 หลัง มีนักเรียนถึงประมาณสองพันคน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2516 โรงเรียนได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ทำให้ต้องย้ายไปทำการเรียนการสอนที่วัดสุทัศน์ชั่วคราว แต่อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นโรงเรียนได้ปรับปรุงและสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีกหลายหลัง จนกระทั่งได้ยุติการเรียนการสอนลงในปี 2532
เบื้องต้นในการลงพื้นที่ทำกิจกรรมวันนี้เพื่อสานต่อโครงการ เราทำความดี ด้วยหัวใจ เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุข โดยผลการดำเนินงานวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ภาพ/ข่าว
ธีรพล ปลื้มถนอม “พนักงานเทศกิจ ส.1 / ชป.กร.ร่วม 10” รายงาน