เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2566 : พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางไปส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 86/2562 ให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 4 ราย ประกอบด้วย นิติบุคคลซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าโครงรถยนต์เก่าใช้แล้วและเครื่องยนต์เก่าใช้แล้ว จำนวน 2 บริษัท และกรรมการของนิติบุคคล ผู้นำเข้าในขณะเกิดเหตุ จำนวน 2 ราย ในข้อหาความผิดฐาน “ร่วมกันนำของที่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสําหรับของนั้นๆ” ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 มาตรา 253 (พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27) ประกอบพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
คดีนี้เป็นกรณีที่สืบเนื่องจากการสืบสวนขยายผลเกี่ยวกับขบวนการนำเข้ารถยนต์จดประกอบ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าทำการตรวจค้นสถานประกอบการที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบรถยนต์จากโครงรถยนต์เก่าใช้แล้วและเครื่องยนต์เก่าใช้แล้วที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจากการตรวจค้นสถานประกอบการดังกล่าว พบรถยนต์ต้องสงสัยหลายคันจอดอยู่ โดยเป็นรถยนต์ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นเรื่องชำระภาษีสรรพสามิตเพื่อจะดำเนินการจดทะเบียนเป็นรถยนต์จดประกอบต่อกรมการขนส่งทางบก คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ทำการอายัดรถยนต์ทั้งหมดไว้ทำการตรวจสอบ
ต่อมาได้ทำการสอบสวนพบว่า รถยนต์ของกลางจำนวน 21 คันในคดีนี้ มีหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ตรงกับหมายเลขที่ผลิตออกมาจากโรงงานของบริษัทรถยนต์ในต่างประเทศ และยังสอบสวนพบว่าบริษัทผู้นำเข้าโครงรถยนต์เก่าใช้แล้ว และบริษัทผู้นำเข้าเครื่องยนต์เก่าใช้แล้วมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อันเป็นพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริษัททั้งสองมีเจตนาร่วมกันในการนำรถยนต์ของกลางจำนวน 21 คัน
ซึ่งเป็นรถยนต์คันเดียวกันที่มีการใช้งานแล้วในต่างประเทศ และเป็นของที่เคยประกอบเป็นสิ่งสมบูรณ์ (รถยนต์) ในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร ด้วยวิธีการแยกชิ้นส่วนนำเข้ามาเป็นส่วนๆ ต่างหากจากกัน
และเมื่อได้นำโครงรถยนต์เก่าใช้แล้วและเครื่องยนต์เก่าใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อย ก็จะนำมาประกอบเป็นรถยนต์สมบูรณ์เช่นเดิมในราชอาณาจักร อันเข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงอากรที่พึงเก็บแก่สิ่งที่สมบูรณ์แล้ว และเป็นเหตุให้รัฐขาดรายได้เป็นเงินภาษีอากรที่พึงจัดเก็บได้จากการนำเข้าสินค้า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งเรื่องให้กรมศุลกากรพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าว และต่อมากรมศุลกากรได้ทำการประเมินเรียกเก็บอากรขาดสำหรับรถยนต์จากผู้นำเข้า ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 รวมอากรขาด เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มของรถยนต์ทั้ง 21 คัน เป็นเงินจำนวน 19,314,330 บาท จึงได้มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีแก่บริษัทผู้นำเข้าและกรรมการนิติบุคคลขณะเกิดเหตุรวม 4 ราย ในคดีนี้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน