ที่ บริเวณลานกิจกรรม ชั้น 2 ห้างสรรพสินค้าบิ๊กชี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลพบุรี นางเพชรรัตน์ เลิศรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกัน เปิดงาน “สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ และอาหารปลอดภัยจังหวัดลพบุรี” ภายใต้โครงการส่งเสริมการตลาดการบริโภคอาหารปลอดภัยตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัดลพบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
โดยงานดังกล่าว เกิดจากการบูรณาการ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป้นการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ อาหารปลอดภัย และตลาดนัดเพื่อสุขภาพจังหวัดลพบุรี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่มีประโยชน์ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า เพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์และอาหารปลอดภัยของจังหวัดลพบุรี จาก 11 อำเภอ อาทิ ข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ ปลาช่อนแดดเดียวอินทรีย์ ปลาส้ม กระท้อน เมล่อน ฝรั่ง ไข่ไก่อารมณ์ดี มาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ได้พบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสินค้าเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีอาหารแปรรูป สินค้า OTOP ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ การประกวดผลผลิตทางการเกษตร และกิจกรรมอีกมากมาย รวมถึงการแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมการแปรรูป ด้านการเกษตร
ซึ่งจังหวัดลพบุรี ขอเชิญช็อป ชิม ชม สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์และอาหารปลอดภัยของจังหวัดลพบุรีได้ ณ ลานกิจกรรม ขั้น 2 ห้างบิ๊กซี สาขา 1 ลพบุรี โดยงานดังกล่าวจะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 นี้
สำหรับจังหวัดลพบุรี ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ มีมูลค่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดด้านเกษตรกรรม เป็นอันดับ 2 ซึ่งจังหวัดลพบุรี ได้ดำเนินการส่งเสริมประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร และอาหารปลอดภัย ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการจำหน่ายสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ของจังหวัดลพบุรี “แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สู่เมืองแห่งความสุข” ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าเกษตร เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล และตรงกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแปรรูปสินค้าเกษตรในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และองค์ความรู้อย่างเหมาะสม การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ตลอดจนการใช้กลไกการตลาด พร้อมทั้งแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการแข่งขันนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอาชีพ
…………………………………………
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
สมชาย เกตุฉาย