วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหาร นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลงพื้นที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (ประตูระบายน้ำพระธรรมราชา) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้น โดยเฉพาะมหาอุทกภัยครั้งสำคัญในปี 2554 มีปริมาณน้ำหลากเกินศักยภาพการระบายน้ำในปัจจุบันของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำท่วมมากกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนอยู่อาศัย แหล่งอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำและคลองเดิม โดยดำเนินงานตามแผน แผนปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยทำการออกแบบปรับปรุงคลองระบายน้ำ ปรับปรุงให้สอดรับกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่
ทั้งในรูปแบบการขุดคลองระบายน้ำ ออกแบบและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำตามแนวคลอง รวมถึงงานก่อสร้างกำแพงกันดินเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดการกัดเซาะตลิ่ง มีแนวทางดำเนินงานใน 2 รูปแบบ คือ จัดทำกำแพงกันดินแบบตอกเข็มเสียบแผ่นกันดิน และกำแพงกันดินแบบเข็มพืดคอนกรีตอัดแรง โดยจะพิจารณาจากข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองชลประทาน และคลองธรรมชาติเดิมให้สามารถระบายน้ำจากพื้นที่ด้านใต้แม่น้ำป่าสัก ลงสู่ทะเล
รวมถึง ปรับปรุงออกแบบอาคารบังคับน้ำ จะดำเนินการใน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำใหม่ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูน้ำหลาก และฤดูน้ำแล้ง ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ และท่อระบายน้ำ จำนวนรวม 12 แห่ง และงานปรับปรุงอาคารบังคับน้ำและสะพาน จากจำนวนอาคารชลประทานในระบบชลประทานเดิมทั้งสิ้น 63 แห่ง บางส่วนจะทำการปรับปรุง ซึ่งจะมีทั้งการก่อสร้างใหม่ทดแทนอาคารเดิม เพิ่มช่องบานระบาย และรื้อถอนอาคารเดิม ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำท่อระบายน้ำ และสะพานแทนท่อระบายน้ำเดิม จำนวนรวม 9 แห่ง
การดำเนินโครงการออกแบบโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จ.พระนครศรีอยุธยา จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัญหาอุทกภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถกักเก็บน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง และสามารถเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ เริ่มตั้งแต่พื้นที่แม่น้ำปาสัก ผ่านพื้นที่ 77 ตำบล 17 อำเภอ ใน 7 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา,สระบุรี,นครนายก,ปทุมธานี,กรุงเทพมหานคร,ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ รวมความยาวปรับปรุงคลองทั้งสิ้น 505.18 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่จากเดิม 200 ลบ.ม.วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน