พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนให้ดำเนินการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพ ป้องกันภัยทางการเงินออนไลน์ ดังนี้
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน คุ้มครองประชาชนซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน ผ่านทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จากมิจฉาชีพ โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น สถาบันการเงินมีอำนาจและหน้าที่ยับยั้งธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารเพื่ออายัดเงินในบัญชีด้วยความรวดเร็ว ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทั่วราชอาณาจักร และมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก รวมไปถึงการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปฏิบัติที่สำคัญเข้าทำการตรวจค้นทั่วประเทศกว่า 40 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย ตรวจยึดซิมโทรศัพท์ของกลางได้รวมกว่า 110,000 ซิม เพื่อตัดวงจรการครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือของมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงประชาชน
ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ทำสถาบันการเงินปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้มาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ลดช่องทางของมิจฉาชีพที่ใช้ในการเข้าถึงประชาชน ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ คือ 1.มาตรการป้องกัน
2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมที่ต้องสงสัย
3.มาตรการตอบสนองและรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมาตรการป้องกัน เช่น การยกเลิกการแนบ link ทางข้อความสั้น (SMS) และอีเมล การปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้เป็นปัจจุบัน และการให้ประชน หรือลูกค้าทำการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking ในกรณีการเปิดบัญชีแบบไม่เห็นใบหน้า (non-face-to-face) กรณีการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง กรณียอดรวมของการโอนเงินทุก 200,000 บาทต่อวัน และกรณีการเปลี่ยนวงเงินในการทำธุรกรรม ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.66 นั้น
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.,พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์โดยผิดกฎหมาย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงมุ่งหน้าปราบปรามจับกุมอาชญากรไซเบอร์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของการหลอกลวงออนไลน์ ทำให้ภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการเข้าไปยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าที่สถาบันการเงิน หรือธนาคารสาขาต่างๆ หรือตามช่องทางที่ธนาคารนั้นได้กำหนดเอาไว้ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินไม่ติดขัด เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพก่อนจะนำเอาทรัพย์สินของประชาชนหลบหนีไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน