วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 : เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “เพื่อการดำเนินงานส่งเสริมผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง และสร้างความเข้มแข็งสถานศึกษาในการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน” ณ โรงแรม เดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กรุงเทพฯ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากสถิติพบว่านักเรียนในครัวเรือนยากจนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย เพียง 53% ขณะที่นักเรียนยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพียง 8% เท่านั้น นอกจากนี้ ปัจจุบันมีเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 15 % ของเยาวชนทั้งหมด ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม หรือถูกเรียกสั้นๆ ว่าเป็นกลุ่ม NEET (Youth Not in Employment,Education,or Training) นับเป็นปรากฏการณ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ต้องมีนโยบายที่ทำให้รายได้เฉลี่ยคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 40% ความร่วมมือระหว่าง (กสศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวมถึงคณะหนุนเสริมจากหลายสถาบัน พัฒนานวัตกรรมระบบการศึกษายุติความยากจนข้ามรุ่น ผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนทุกคนหลุดจากระบบด้วยการเรียนสายอาชีพระดับ ปวช.หรือ ปวส. พัฒนาเป็นกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เป็นกุญแจสำคัญให้ประเทศไทยสามารถ “หยุด” ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคนและพาสังคมไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในประชากรรุ่นนี้ ตามทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 9 และหมุดหมายที่ 12
“การศึกษาสูงสุดของพ่อแม่ในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นคือระดับ ป.4 – ป.6 หากสนับสนุนให้เยาวชนจากครัวเรือนยากจนมีการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 4-6 ปี เป็น 15 ปีหรือมากกว่านั้น การศึกษาที่เพิ่มขึ้น 10 ปี จะนำมาสู่ความมั่นคงของครอบครัว เยาวชนกลุ่มนี้จะมีรายได้เข้าสู่ฐานภาษีของประเทศ เป็นคนแรกของครอบครัวที่ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ โดยปัจจุบันทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมีจำนวนทุนสะสมทั้งสิ้น 11,679 ทุน เป็นเยาวชนยากจนและด้อยโอกาส11,251 คน และเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ 428 คน”
ดร.ไกรยสฯ กล่าวว่า นวัตกรรมระบบการศึกษาเพื่อยุติความยากจนข้ามรุ่น ได้ออกแบบให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางพร้อมกับตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่ไปด้วยกัน มีจุดเน้นสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1.การส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ด้วยกลไกการแนะแนวเพื่อให้เด็กและครอบครัวมองเห็นโอกาสทางการศึกษาและการมีอาชีพตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน สวัสดิการเรียนฟรีเต็มรูปแบบที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดในชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้ ระบบการดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่และสุขภาพจิตของผู้เรียนให้สามารถจบการศึกษาตามหลักสูตรโดยไม่มีการออกกลางคัน
2.การยกระดับคุณภาพสถานศึกษา ให้มีหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา เพื่อประกันการเรียนแล้วได้วุฒิ ได้งานที่ตรงสาขาทันทีหลังจบการศึกษา
ผู้จัดการ (กสศ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากเครือข่าย All For Education จากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ มูลนิธิก้าวคนละก้าว โดยคุณอาทิวราห์ คงมาลัย ประธานมูลนิธิฯ ผ่านโครงการ “ทุนก้าวเพื่อน้อง” บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในกลุ่ม ปตท. และเครือข่ายเอกชนและสถานประกอบการกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ
ด้าน เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า (สอศ.) มีทิศทางนโยบายในการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อพัฒนาประเทศ ความร่วมมือระหว่าง (สอศ.) กับ (กสศ.) ถือเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยพัฒนากำลังคนสายอาชีพที่มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสูง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถหยุดปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน และพาสังคมไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ต่อไป
“ทิศทางสำคัญของความร่วมมือคือการพัฒนาระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพ การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูง การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จบการศึกษา รวมถึงการพัฒนาคุณภาพครู เพราะครูคือคนสำคัญที่จะเปลี่ยนลูกศิษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมความพร้อมสู่การมีงานทำ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ” เรืออากาศโท สมพรฯ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กำหนดระยะเวลา 12 ปี มีเป้าหมายสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1.การส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาและศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูงตามความถนัดและศักยภาพ
2.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนรวมถึงการบริหารจัดการที่เสริมสร้างสมรรถนะ เพื่อให้ผู้เรียนผู้รับทุนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพ
3.การผลิตและพัฒนาคุณภาพของผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาสายอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ สนองตอบความต้องการด้านแรงงานและการยกระดับความสามารถของคนไทย และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
4.การเชื่อมโยง บูรณาการ และการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้เรียนรายบุคคลเพื่อดูแลช่วยเหลือและติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษา การมีงานทำรวมถึงการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับและเพื่อยกระดับคุณภาพของสถานศึกษา
5.การสนับสนุนการศึกษา วิจัย การพัฒนานวัตกรรมต้นแบบและการจัดสรรทรัพยากรตลอดจนร่วมขับเคลื่อนมาตรการและกลไกเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัด (สอศ.)
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน