ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน หมู่ 8 บ้านวังร่อง ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ไอเดียสุดเจ๋ง นำวัสดุเหลือใช้ จากมะขามที่ผ่านการแปรรูป ทั้ง เปลือก เมล็ด และเส้นใยรกมะขาม มาสร้างนวัตกรรมใหม่ สู่สีย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย และเส้นใยจากธรรมชาติ ให้มีสีสันที่สวยงาม กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสีย้อมน้ำมะขาม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า และ สร้างความปลอดภัยต่อช่างทอ ช่างย้อม และผู้บริโภคอีกด้วย
นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าลายโบราณวังรักวังร่อง หมู่ 8 บ้านวังร่อง ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงแรก ทางกลุ่มฯมีการใช้สีเคมี มาเป็นส่วนผสมหลัก ในการย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย และเส้นใยธรรมชาติ ก่อนนำไปทอเป็นผืนและสร้างลวดลายต่างๆ เพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ จนกระทั่งผ่านมาระยะหนึ่ง เริ่มสังเกตตัวเองและสมาชิกกลุ่มฯ พบความผิดปกติต่อสุขภาพร่างกาย มีอาการลิ้นชาและผลข้างเคียงจากสีเคมี
ต่อมา ทางด้าน สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.เพชรบูรณ์ ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชประจำจังหวัด ซึ่งทางกลุ่มเล็งเห็นว่า พืชมะขาม ทั้งมะขามหวานและมะขามเปรี้ยว มีอยู่อย่างแพร่หลายในชุมชน และในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเกิดไอเดีย สร้างนวัตกรรมใหม่ โดยนำเอาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการแปรรูปมะขาม มีทั้ง เปลือก เมล็ด และเส้นใยรกมะขาม ซึ่งวัสดุเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในกระบวนการย้อมสี แทนสีเคมีเดิม โดยหากเป็นเมล็ดมะขาม ก็จะนำมาคั่วให้เปลือกกะเทาะ แล้วก็นำไปต้มในน้ำร้อนราวครึ่งชั่วโมง ก็จะได้น้ำสกัดจากเมล็ดมะขาม หรือในส่วนของเปลือกและเส้นใยรกมะขาม ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน โดยนำไปต้มน้ำร้อน ราว 1 ช.ม. ก็จะได้น้ำสกัดจากเปลือกและรกมะขามเช่นเดียวกัน
จากนั้น นำเส้นไหมมาจุ่มย้อมด้วยสีน้ำมะขามจากธรรมชาติ โดยใช้เวลาย้อมประมาณ 1 ช.ม. เพื่อให้เส้นใยดูดซับน้ำมะขามจนอิ่มสี ก่อนนำไปล้างน้ำสะอาด และนำไปผึ่งลมให้หมาด จากนั้นนำไปสู่ขั้นตอนการฟิกสี เพื่อความคงทน ก่อนนำไปใช้ทอเป็นผืนผ้า ต่อไป
นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี กล่าวต่อว่า นอกจากสีจากมะขามแล้วนั้น ยังมีการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายในชุมชน เช่น ใบมะม่วง ใบดอกแก้ว ใบสบู่เลือด คลั่ง โคลน ฝักคูณ เปลือกมะพร้าว ฯลฯ เพื่อนำมาสร้างสีสันที่หลากหลาย เมื่อนำไปถักทอและขึ้นลวดลายแล้วนั้น ก็มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สำหรับท่านใด ที่สนใจ ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ ไร้สารเคมี และมีเอกลักษณะเฉพาะตัวของสีย้อมน้ำมะขาม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าลายโบราณวังรักวังร่อง หมู่ 8 บ้านวังร่อง ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โทร. 0868121605
สอบถาม นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี เล่าว่า มะขามเป็นพืชประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ เวลาผ่านการแปรรูปเอาเนื้อไปใช้ แล้วก็จะเหลือเมล็ด เปลือก ก็ถูกทิ้ง จึงมองว่าน่าจะนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ได้ ประกอบกับทางพัฒนาชุมชนมาให้ความรู้จากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น จึงนำมะขามมาใช้ประโยชน์กับการทอผ้า ยิ่งเราได้รับพระราชทานลายผ้า จึงนำมาปรับใช้ สร้างมูลค่าและสะท้อนเรื่องเล่าจากพืชเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อช่างทอ ช่างย้อม และลูกค้า ทำให้มีสุขภาพที่ดี ไม่มีสารเคมีตกค้าง
ด้าน นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ เผยว่า เราค้นพบนวัตกรรมตัวใหม่ ในการใช้สีธรรมชาติมาย้อมผ้า เพื่อนึกถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้มากขึ้น โดยเน้นหนักการใช้สีธรรมชาติ ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์เรา ได้นำเสนอผ้าไหม ย้อมสีจากเปลือกมะขาม ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งมีจุดเด่น หลักๆคือความปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ และสีจากมะขาม ก็ไม่เหมือนจากสีทั่วไป เมื่อนำมาย้อมกับผ้าไหม สีของผ้าจะแวววาว เห็นลายเด่นชัด และมีเอกลักษณะเฉพาะตัว
ราเมธ บงแก้ว/มนสิชา คล้ายแก้ว