เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการฯ พรรคก้าวไกล และผู้จัดการรัฐบาล ได้โพสต์ข้อความว่า ผลการพูดคุยเพื่อจัดทำ MOU ร่วมกันในวันนี้ บรรลุผลไปได้ด้วยดี พรรคก้าวไกลต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคของทุกพรรคที่เราจะจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง การแถลง MOU ในเวลาเดียวกันกับการประกาศรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน
แม้ว่าก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้งได้รับเสียง 152 ที่นั่ง ตามมาด้วยเพื่อไทย 141 ที่นั่ง ทำให้คะแนนเสียงยังไม่พอในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ต้องจัดรัฐบาลผสม เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา
เป็นที่มาของการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยขณะนี้มีพรรคเข้าร่วมรัฐบาลคือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ รวม 314 เสียง และยังมีพรรคใหม่ และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ออกมาระบุว่า จะยกมือโหวตนายพิธา
ด้านนายพิธา ได้โพสต์ระบุว่า รัฐบาลผสมที่นำโดยก้าวไกลจะผลักดันวาระ 2 ประเภท
1. วาระ “ร่วม” ของทุกพรรคร่วม รบ. (ระบุใน MOU) = นโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน + พร้อมรับผิดชอบร่วมกัน
2. วาระ “เฉพาะ” ของพรรค (ไม่ระบุใน MOU) = นโยบายที่ กก.ขับเคลื่อนเอง ผ่านกระทรวงที่ กก.บริหาร + 152 ส.ส. ในสภาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวในวันนี้ (21 พ.ค.) พรรคก้าวไกล ได้เปิดเซฟเฮ้าท์ เพื่อร่วมกันประชุมหารือเรื่องการลงนามในเอ็มโอยู ซึ่งแต่ละพรรคได้ไปทำงานก่อนที่จะส่งกลับมาให้พรรคก้าวไกล นำมาสรุปและลงนามร่วมกัน
โดยในวันที่ 22 พ.ค นี้ มีการนัดประชุมร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในเวลา 15.00 น. ก่อนที่จะลงนามในเอ็มโอยู พร้อมกันในเวลา 16.00 น.ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพ ซึ่งจะมีกาเปิดเผยในรายละเอียดต่อไป
โดยทั้ง 8 พรรค ได้ร่วมแถลงจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนร่วมกัน โดยมี 3 ข้อ คือ
1. ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมาก ตามผลการเลือกตั้งของประชาชน
2. ทุกพรรคจะร่วมการจัดทำข้อตกลงร่วม หรือ Mou ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พ.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
3. ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยความเคารพต่อเสียงข้างมากของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ระบุว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเนื้อหาเอ็มโอยู และจะส่งกลับไปแก้ไข โดยมองว่า เนื้อหาในเอ็มโอยูลงรายละเอียดมากเกินไป เช่น ปฏิรูปทหาร ประเด็นสมรสเท่าเทียม ประเด็นสุราก้าวหน้า แต่ไม่มีประเด็นมาตรา 112