ตามที่ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 150/2562 กรณี น.ส.วันทนีย์ฯ กับพวกรวม 9 ราย ได้ร่วมกันหลอกลวงให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนใน “แชร์แม่มณี” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเสนอผลตอบแทนการลงทุนให้ในอัตราลงทุนออมเงินจำนวน 1,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน จะได้รับผลตอบแทนพร้อมคืนต้นเงินลงทุนจำนวน 1,930 บาท ต่อหนึ่งวง อันเป็นการเสนอจ่ายผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้ ซึ่งการเสนอแผนการลงทุนและผลตอบแทนดังกล่าวเป็นเพียงอุบายที่ใช้ในการหลอกลวง และเป็นความเท็จทั้งสิ้น ซึ่งความจริงแล้ว
น.ส.วันทนีย์ฯ กับพวก ไม่ได้จัดให้มีการออมเงินหรือการลงทุนใดๆ ที่จะให้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ลงทุนในอัตราดังกล่าวได้จริงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้มีประชาชนหลงเชื่อนำเงินเข้าร่วมลงทุน “แชร์แม่มณี” จำนวน 2,533 ราย ได้รับความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,376,215,359 บาท อันเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เสนอสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องและได้ยื่นฟ้อง น.ส.วันทนีย์ฯ กับพวกทั้ง 9 ราย เป็นจำเลย
ต่อศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ อ.167/2563 แล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยพิพากษาว่า น.ส.วันทนีย์ฯ จำเลยที่ 1 และนายเมธีฯ จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิด หลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 2,528 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 12,640 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง 5,056 ปี 15,168 เดือน อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว เป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกรวมกันได้ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2)
จึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย
พร้อมดอกเบี้ย ในส่วนจำเลยที่ 3-9 ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3-9 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงพิพากษายกฟ้อง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน