วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี ประชุมเกษตรอำเภอทั้ง 7 อำเภอในจังหวัดปทุมธานี ให้จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดนำร่อง 5,000 ไร่ ในการใช้นวัตกรรมแปรรูปซังข้าวเป็นถ่านอัดแท่งชีวมวล ไถพรวนดินให้เกษตรกรฟรี และเกษตรกรได้รายได้จากซังข้าว
โดยมีนายยุทธพงษ์ พุ่มรินทร์ ประธานกรรมการ บริษัท วีอาร์พี โฮลดิ้ง ดีวีลอปเมนท์ จำกัด เป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจ เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ กับ บริษัท วีอาร์พี โฮลดิ้ง ดีวีลอปเมนท์ จำกัด ได้บันทึกความร่วมมือสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่ใช้ในการป้องกันและลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่จะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ได้ให้จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่นำร่องชวนเกษตรกรนาข้าวงดเผาซังข้าว โดยประสานเกษตรอำเภอนำนวัตกรรมแปรรูปซังข้าวเป็นถ่านอัดก้อน ซึ่งเกษตรจะได้รายได้จะซังข้าวส่วนหนึ่ง นอกจากนี้บริษัทฯ ที่ดำเนินการไถพรวนดินให้เกษตรกรฟรี
นางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากภาพลักษณ์ของการทำเกษตรหรือกลุ่มงานเกษตรเป็นต้นเหตุทำให้เกิดมลภาวะ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทางกรมควบคุมมลพิษจึงมีโครงการไม่เผาเศษวัสดุเหลือใช้ และมีบริษัทที่ MOU ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ทำโครงการป้องกันการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อ้องกันการเกิดมลพิษฝุ่น PM2.5 ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะมีการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยทางบริษัทฯจะต้องลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจเพราะทราบรายละเอียดของนวัตกรรมได้ดี รวมถึงฝากเกษตรอำเภอประชาสัมพันธ์โครงการนี้ให้เกษตรกรได้ทราบ หากมีต้นแบบเกษตรจะเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะยอมรับนวัตกรรมนี้ได้ง่ายขึ้น
นายยุทธพงษ์ พุ่มรินทร์ ประธานกรรมการ บริษัท วีอาร์พี โฮลดิ้ง ดีวีลอปเมนท์ จำกัด กล่าวว่า เป็นโครงการที่เกิดมาจากความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ และบริษัทฯ เพื่อป้องกันการเผาเศษวัสดุ ลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อสร้างรายได้และลดต้นทุนให้กับเกษตรกร สร้างพลังงานสะอาดให้กับประเทศ โดยเราจะเข้าไปในพื้นที่ของเกษตรและใช้เครื่องจักรในการนำวัสดุมาใช้กับนวัตกรรมของเรา แปรรูปเศษวัสดุที่ต้องเผาให้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนวัตกรรมที่เราคิดค้นขึ้นมาจะถูกติดตั้งทั่วประเทศในแต่ละจุดเพื่อไม่ให้เกิดการเผา จะสามารถป้องกันการเผาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันไม่ให้เกิด PM2.5จากการเผาได้ด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านเกษตรกรยังได้รายได้และลดต้นทุนจากการใช้เครื่องจักรในการไถพรวน รวมถึงมีระบบโดรนที่ใช้ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุน สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถประสานได้ที่เกษตรอำเภอทั้ง 7 อำเภอในแต่ละพื้นที่ โดยจังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดนำร่องต้นแบบ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อมาที่บริษัทฯ เบอร์ 065-069-0634 , 061-613-1333 เพื่อสอบถามศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม.
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี