วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 น. พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ.5 เป็นประธานการประชุม “การป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาภายในประเทศและการค้ามนุษย์” โดยมี พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 , พล.ต.ต.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย ,น.ส.ภาณี จันทร์ตัน พมจ.เชียงราย, และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น กองกำลังผาเมือง, หน.สภ.ในสังกัด ภ.จว.เชียงราย ,ตม.เชียงราย,ตม.เชียงแสน,ตชด.32,ฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงราย ,NGOs ด้านป้องกันการค้ามนุษย์ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ภ.จว.เชียงราย
หลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบช.ภ.5 ได้กล่าวว่า เป็นการประชุมกำหนดและกำชับการปฏิบัติตามภารกิจหลักที่สำคัญ 2 เรื่องตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและการค้ามนุษย์
ประการแรกคือ กำชับไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าคนต่างด้าวแบบเป็นขบวนการโดยเด็ดขาด ขณะที่ จว.เชียงราย มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ คือ ประเทศเมียนมา, สปป.ลาว และหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้มีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก การป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองจึงต้องเข้มงวด ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้ ยังมีความเหมาะสมอยู่ ที่สำคัญคือการหลอกลวง การกดขี่ การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายซึ่งอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ในส่วนนี้ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการช่วยกันเพื่อปรับระดับ Tier ให้ดีขึ้น
ประการที่สอง คือ แนวทางการปฏิบัติต่อแรงงานเด็กและสตรีที่อาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งเมื่อพบกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่อาจพบกลุ่มคนที่ใกล้เคียงกับการค้ามนุษย์ ต้องใช้วิธีการผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอ ฯลฯ ทำการคัดแยกตามระบบกลไก NRM
พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย กล่าวอีกว่า ในขณะนี้รูปแบบการค้าแรงงานและลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนไปเป็นกองทัพมด ใช้ใบผ่านแดนชั่วคราวเข้ามาในลักษณะเป็นนักท่องเที่ยว หรือใช้ความสัมพันธ์เครือญาติกันระหว่างประเทศจากนั้นลักลอบเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุครสงคราม ฯลฯ หรือจังหวัดที่มีการใช้แรงงานในโรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ได้ประสานด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และสถานีตำรวจภูธรทุกท้องที่ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนพื้นที่ตอนในที่อาจนำแรงงานไปรวมตัวกันและออกนอกเขตก่อนลักลอบไปยังตอนกลางของประเทศเพื่อร่วมสกัดกั้น
กรณีจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองได้ต่อไปจะประสาน ตม.เพื่อให้พิจารณาป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านี้กลับเข้ามาสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกรณีที่ทำเป็นขบวนการที่ประกอบด้วยนายหน้าและกลุ่มทุน ก็จะมีการตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียด จับกุมนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
น.ส.ภาณีกล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.เชียงราย ณ กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ที่ 1 เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กและสตรี โดยเฉพาะที่เป็นแม่ รวมทั้งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่พักพิงกลุ่มคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมไตร่ตรองว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่ หากเข้าข่ายก็ส่งเข้ากระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเชียงรายมีสถานคุ้มครองชาย แต่หญิงไม่มีก็จะส่งไปยังเครือข่ายเอ็นจีโอ จ.เชียงใหม่ และบ้านพิษณุโลก หากไม่เข้าข่ายส่งกลับดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองนั้น เฉพาะเดือน พ.ค.66 นี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเป็นกลุ่มใหญ่ได้หลายครั้ง เช่น วันที่ 2 พ.ค.66 เจ้าหน้าที่ ร้อย.ตชด.327 กก.ตชด.32 ได้สกัดจับรถยนต์กระบะ 1 คัน ขนชาวต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเข้าเมืองจำนวน 30 คน, วันที่ 4 พ.ค.66 เจ้าหน้าที่ชุดเดียวกันร่วมกับทหารกองกำลังผาเมือง ด่าน ตม.เชียงราย สกัดจับชาวเมียนมาได้อีก 31 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 9 คน และเด็กติดตามมาด้วย 12 คน ปัจจุบันทั้งหมดอยู่ที่ศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่