วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 8 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และพิธีมอบตราตั้งเจ้าอาวาสวัดไทยในญี่ปุ่น และที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น ณ วัดปากน้ำญี่ปุ่น เขตนาริตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
โดยมีพระราชรัชวิเทศ รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำญี่ปุ่น ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น กล่าวถวายรายงานฯ ได้รับเกียรติจากนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เปิดกรวยถวายราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เนเจอร์กิฟ จำกัด เป็นผู้แทนสาธุชนถวายสักการะองค์ประธานพิธีฯ
ในพิธีเปิดการประชุมฯ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดเมตตาประทานสาน์สพระคติธรรม ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “พระธรรมทูตมีหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขจรขจายไปทั่วสากล ท่านทุกรูปต้องคำนึงไว้เสมอว่า ท่านไม่ได้มีหน้าที่เพียงเพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของตน หากยังมีหน้าที่รักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของคณะสงฆ์ พระพุทธศาสนา และประชาชาติไทยในภาพรวมไว้มิให้มัวหมองอีกด้วย จึงขอทุกท่านโปรดกระทำในใจให้รอบคอบแยกคายด้วยสติปัญญาในทุกคำพูด และการกระทำ เพียรหมั่นรักษาตนให้เจริญในพระธรรมวินัย ด้วยความไม่เป็นข้าศึกสำหรับใครๆ ในโลกนี้ ตามพระพุทธานุศาสนี”
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เมตตาให้โอวาทในพิธีเปิดการประชุมฯ ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “งานพระธรรมทูตนั้น เป็นมรดกธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดประทานไว้ให้แก่พุทธบริษัท ซึ่งได้มอบหน้าที่อันสำคัญ คือการบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อการเกื้อกูลแก่พหุชนเป็นอันมาก พร้อมทั้งสามารถเป็นหลักใจ และเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนชาวไทย และสาธุชนนานาอารยประเทศ พระธรรมทูตจึงเป็นผู้สร้างสันติภาพโดยแท้ ซึ่งปรากฏในสโมธานกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ความตอนหนึ่งว่า การสร้างสันติภาพนั้น เพราะพูดจริง ไว้ใจได้ สมานคนที่แตกกัน เพิ่มสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ พูดน่ารักยิ้มแย้มแจ่มใส พูดเป็นอรรถ พูดเป็นธรรม ไม่มีความอยากได้ ไม่มีพยาบาท มีความเห็นไม่วิปริต เพราะพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งพระพุทธองค์ทรวงวางนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสันติภาพเช่นนี้ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จึงไม่เคยมีสงครามเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การทำหน้าที่พระธรรมทูต จึงเป็นไปอย่างสันติภาพเสมอมา ความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูต ในความหมายนี้ มิใช่ลาภสักการะหรือสิ่งอื่นใด แต่คือการปฏิบัติศาสนกิจที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ตามควรแก่การปฏิบัติ เพื่อความสุขสวัสดีแก่ตนเอง และความสันติสุขแก่ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และพุทธบริษัททั้งมวล”
สำหรับการประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566 และพิธีรับตราตั้งเจ้าอาวาสวัดไทยในญี่ปุ่น มีเจ้าอาวาส 21 วัดสมาชิกสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น เข้าร่วมฯ ประกอบด้วย วัดปากน้ำญี่ปุ่น, วัดพระธรรมกายโตเกียว, วัดป่าธรรมกายนานาชาตโทชิหงิ, วัดพระธรรมกายกุมมะ, วัดพุทธเมโซ, วัดระฆังญี่ปุ่น, วัดพระธรรมกายโอซาก้า, วัดพระธรรมกายนางาโน่, วัดพระธรรมกายคานากาว่า, วัดพระธรรมกายอิบาราขิ, วัดพระธรรมกายโทชิหงิ, วัดพระธรรมกายไซตามะ, วัดพระธรรมกายยามานาชิ, วัดพระธรรมกายไอจิ, วัดเมตตาธรรมอิบาราขิ, วัดไทยอิบารากิ, วัดพุทธาราม สัทเทะ ไซตามะ, วัดไทยโยโกฮาม่า, วัดสุทธิวรารามโคอิวะ, วัดอรุณภาวนาราม.
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี