ผอ.สำนักงานวิจัย ทร. ลงนามโครงการพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน ระยะ 2 คาดใช้ UAV ได้จริง
ก.ค.-ส.ค.ปีหน้า…
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ห้องชมวังอาคารราชนาวิกสภา พล.ร.ต.ไพฑูรย์ ประสพสิน ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย
และพัฒนาการทหารกองทัพเรือ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมวิจัย “โครงการและพัฒนาอากาศยาน
ไร้นักบินขึ้น-ลงทางดิ่งระยะที่ 2” โดยมี พ.อ.ทวิวัชร วีระแกล้ว รองผอ.สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
(สทป.) และนายพจน์ บุญดวงประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท เสรีสรรพกิจ จำกัด ร่วมลงนาม และ
น.อ.วรพล ทองปรีชา รองผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ เป็นนายทหารโครงการ
จากนั้น น.อ.วรพล กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบินขึ้น-ลงทางดิ่ง ในระยะที่ 2 นี้ เป็นการ
วิจัยและพัฒนาที่ต่อเนื่องจากการดำเนินงานในระยะที่ 1 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปเมื่อปี 54 จนสามารถ
สร้างต้นแบบอากาศยานไร้นักบินแบบปีกหมุน พัฒนาระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ ควบคุมการบินภาคพื้น
รวมทั้งระบบอื่นๆ และได้ทำการบินทดสอบเบื้องต้น และได้ส่งมอบให้กับสทป. ไปแล้ว โดยในระยะที่ 2 นี้
จะเน้นเพื่อนำไปทดลองใช้จริง ดูข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่นำไปสู่การผลิตอากาศยานไร้นักบิน
ขึ้น-ลงทางดิ่ง ใช้จริง ซึ่งคาดว่าเป็นประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. ปีหน้า ทั้งนี้หากการวิจัยและพัฒนาได้ผลดี
ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาในระยะที่ 3 ตามแผนแม่บท ที่จะขยายขีดความสามารถ
ติดตั้งเรดาร์ ติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออื่นๆ เช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐอเมริกา หรือกองทัพสหรัฐฯ
อาจสนใจนำแบบของเราไปพัฒนาต่อยอด
น.อ.วรพล กล่าวต่อว่า เครื่อง UAV ที่เราพัฒนานั้น เป็นขนาดกลางแบบเดียวในโลก เนื่องจากประเทศอื่นๆ
นิยมใช้ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าตลาดโลกอาจให้ความสนใจด้วย ซึ่งนอกจากเครื่องUAV
จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการพิสูจน์ทราบเป้าหมายของหน่วยกำลังทางเรืออย่างถูกต้องแม่นยำ
และเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยกำลังทางบก
นอกจากนี้ยังช่วยให้การปฏิบัติงานของหน่วยกำลังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยขึ้นมากขึ้น
และยังสามารถนำมาใช้งานในภาคพลเรือน เช่น การช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ ได้ดีอีกด้วยเพราะว่าสามารถนำ
ไปใช้ในด้านภาคเอกชนได้ด้วย ทั้งนี้ขอยืนยันว่าศักยภาพของเครื่อง UAV นี้ ไม่ได้สูงจนส่งผลกระทบต่อ
ความมั่นคง หน่วยงานด้านความมั่นคงจึงไม่ต้องหวาดระแวง.