สื่อมวลชน กขป.เขตพื้นที่ 4 จับมือกองทุนสื่อฯขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สาธารณะ
ผลักดันพัฒนาโมเดลการทำงาน ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสื่อภาคกลางไปสู่ประชาชน ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้
นายภูริวัชญ์ ลิขิตสกุลเดช หัวหน้าทีมสื่อสารสาธารณะในคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 4 (กขป.เขต 4) พร้อมด้วย นางอุบลรัตน์ ชื่นสมานศรี คณะกรรมการ กขป.เขต 4 และ ดร.วิสุทธิ์ สุกรินทร์ เลขานุการร่วมฯ พาแกนนำภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนภาคกลาง 8 จังหวัด ในนาม “นครจตุบุรีศรีปทุมทอง” ซึ่งประกอบด้วย นครนายก (นนทบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และอ่างทอง รวม 24 คน เข้าร่วม โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวแบบมีส่วนรวม ในระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกและสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะ การรู้เท่าทันสื่อและการเฝ้าระวังสื่อในกลุ่มนักข่าวภูมิภาค/ท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สื่อข่าวภูมิภาคและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือผ่านกระบวนการถอดบทเรียน ประสบการณ์การทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอด ในระดับพื้นที่ภาคกลาง ได้รับเกียรติจาก ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษเรื่อง “สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์และทิศทางการขับเคลื่อน”ว่าในปัจจุบัน พบว่าสื่อหลักนำเสนอแบบธุรกิจที่ต้องแสวงหาเรตติ้ง เพื่อดึงดูดผู้ชมผู้ฟัง ทำให้ความสำคัญของสื่อมวลชนที่เป็นกลไกสร้างให้เกิดการเรียนรู้ ตื่นรู้เท่าทันของประชาชนถูกลิดรอนลงไป การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ต้องก้าวทันเทคโนโลยี ต้องตรวจสอบก่อนเผยแพร่ และสิ่งที่สำคัญคือต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ ต้องนำเสนอข่าวสารอย่างปลอดภัย และสร้างสรรค์ ทั้งในส่วนสื่อชุมชน และ สื่อท้องถิ่น ซึ่งการนำเสนอแบบปลอดภัยและสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญต้องตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนหยิบยกเรื่องใดขึ้นมานำเสนอ ด้าน นายเอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์คนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้ความรู้เรื่อง “สร้างสื่อยุคใหม่เข้าใจคนทุกเจ็น” ระบุว่า วิธีคิด มุมมองในการสร้างสื่อยุคใหม่ ด้วยกระบวนการคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสื่อ ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การออกแบบเนื้อหาแบบสื่อผสม เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยใช้เทคนิคการเขียนเพื่อเข้าถึงและส่งสารให้ผู้อ่าน ได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ ผศ.ดร.ตวงทอง สรประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาบรรยาย“กฎหมาย ลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และจริยธรรมในการผลิตสื่อ” ความว่า โดยการละเมิดลิขสิทธิ์ อันได้แก่ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ แม้จะทำเพียงบางส่วน ก็เข้าเงื่อนไขการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะการทำเพื่อสร้างรายได้ ถือว่าผิดลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ปัจจุบันทำได้ง่ายกว่าในอดีต เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในสมาร์ทโฟน จึงจำเป็นที่คนทำสื่อต้องเรียนรู้เรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการผลิตสื่อ ก่อนนำไปเผยแพร่ทุกครั้งก็เพื่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวและความเป็นประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากการอบรมในครั้งนี้แล้ว แกนนำเครือข่ายสื่อมวลชนของทั้ง 8 จังหวัด ก็จะได้ร่วมมือกันในนามเครือข่าย สื่อมวลชน กขป.เขตพื้นที่ 4 นำความรู้ไปขยายผลให้กับสื่อมวลชนแขนงต่างๆในพื้นที่จังหวัดของตนเองต่อไป
………………………………………………….
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ไพรัตน์ ทองแก้ว
ศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ