เป็นอีกหนึ่งวันที่เด็กๆทั่วประเทศเฝ้ารอคอย ที่จะได้เที่ยวเฉลิมฉลองในวันเด็กแห่งชาติ ที่ตรงกับเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี
แต่หลายๆครั้ง เด็กๆก็ต้องประสบกับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ ของเด็กๆ อายุระหว่าง 1 -15 ปี ตลอดปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีเด็ก เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 156,525 คน เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกี่ยวกับกุมารเวชกรรม มากที่สุด คือ 56,101 คน
2) คือ อุบัติเหตุยานยนต์ 36,203 คน
3) ได้แก่พลัดตกหกล้ม 15,245 คน
4) คืออาการปวดท้อง ปวดหลัง เชิงกราน ขาหนีบ 14,113 คน
5) ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง 12,659
6) หัวใจหยุดเต้น 5,642 คน
7) สัตว์กัด 3,141คน
8) ชัก 2,617 คน
9) ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 1,599 คน
และ 10) แพ้ยา แพ้อาหาร 1,579 คน
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถิติดังกล่าว จะพบว่าเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ อุบัติเหตุเกี่ยวกับยานยนต์ และการพลัดตกหกล้ม เพราะเมื่อประสบอุบัติเหตุแนวโน้มในการเสียชีวิตจะมีมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กยังอ่อนแอและบอบบาง ดังนั้นผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยหากผู้ปกครองจะพาบุตรหลานออกนอกบ้าน ควรดูแลเรื่องความปลอดภัย คือ หากเด็กนั่งรถยนต์ควรให้เด็กนั่งที่เบาะหลังและคาดเข็มขัดนิรภัย หรือเด็กเล็กควรนั่งคาร์ซีท จะช่วยลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนเด็กที่นั่งรถจักรยานยนต์ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะได้รับการกระแทก เพราะสิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุคือการกระทบกระเทือนทางศีรษะ ที่จะทำให้เด็กอาจเสียชีวิตได้โดยง่าย
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฯ กล่าวอีกว่า การพาบุตรหลานไปเล่นตามเครื่องเล่นต่างๆ หรือตามสนามเด็กเล่น ควรดูแลการพลัดตกหกล้มให้ดี ก่อนอื่นต้องดูที่ความแข็งแรงของเครื่องเล่นว่าไม่ชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน มีความแข็งแรง และถ้าเครื่องเล่นที่มีความสูง ต้องมีราวกันตกหรือผนังกันตก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตก และก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง
ทั้งนี้เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ เช่น หัวกระแทกโดยตกจากที่สูง มากกว่าความสูงของเด็ก หรือกระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการสลบ ไม่รู้สึกตัว ชัก ปวดศีรษะหรืออาเจียนมาก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 แต่หากเด็กประสบอุบัติเหตุรุนแรงก็ไม่ควรเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ควรรอทีมผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือ
“ไม่ว่าจะวันเด็กปีไหน ๆ เราก็อยากเห็นเด็กทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขมากกว่าการที่จะต้องมาเจ็บป่วย ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และสิ่งสำคัญต้องคอยสอนให้เด็กๆ สามารถดูแลตนเองได้เมื่อต้องพบเจอกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และจดจำสายด่วน 1669 เรียกใช้ทันทีเมื่อพบเหตุบาดเจ็บป่วยฉุกเฉิน” นพ.อนุชากล่าว