ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ร่วมเวทีเสวนา “ชังชาติ : วาทกรรมสังคม” ซึ่งจัดโดยสภาพัฒนาเยาวชนกรุงเทพมหานคร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวนดา บินร่อหีม รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย,นายวรัญญู วอทอง ที่ปรึกษาของประธานสภาพัฒนาเยาวชนกรุงเทพมหานคร และนายณภณต์ เพิ่มความประเสริฐ รักษาการแทนนายกองค์การนักศึกษา มจธ.ซึ่งมี นายธารินทร์ เดชบุญช่วย รองประธานสภาพัฒนาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ
ภายหลังการเสวนา ดร.หิมาลัยฯ ได้ตกผลึกเสียงสะท้อนของผู้ร่วมเสวนาและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยแสดงความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรจะหยุดใช้วาทกรรม “ชังชาติ” เพราะจะนำไปสู่ความแตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ไม่ควรจะใช้คำนี้กับเด็กๆ ที่มีความเห็นต่าง และควรหยุดนำเด็กๆไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนเกิดความแตกแยกและทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดซึ่งจะนำไปสู่การต่อต้านและไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ควรเปิดกว้างและอดทนรับความคิดเห็นของเด็กรุ่นใหม่ในมุมมองแตกต่างให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อใจในการกล้าพูดกล้าคุย เพราะหากมีสิ่งใดที่เด็กสะท้อนออกมาแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกหรือยังเข้าใจผิดอยู่ ผู้ใหญ่จะได้ชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควรได้อย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยให้เกิดเป็นความเชื่อผิด ๆ ที่จะส่งผลเสียต่อสังคมและตัวเด็กเองในอนาคต
อย่างไรก็ดีการชังชาติมีข้อดีคือ มันเห็นจุดบกพร่องก็เลยต้องพัฒนา ต้องแก้ไข ข้อเสียคือเราจะมองไม่เห็นความดีที่เรามีอยู่เลย ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจฟัง และร่วมเปลี่ยนแปลงแก้ไขมันไปด้วยกัน เราไม่จำต้องเห็นตรงกัน เราต้องทำให้ความน่าชังในสังคมนี้มันลดลง ยังไงวันนี้เราก็ยังต้องไปต่อด้วยกัน เพราะทุกคนก็รักชาติ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของประเด็นที่มีเยาวชนถามในเวทีเสวนาถึงการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ดร.หิมาลัยฯ ให้ความเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งก่อนอื่นต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ข้อแรก ผู้ใหญ่ที่รู้ขอบเขตกฎหมายที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ต้องอธิบายให้ความรู้กับเด็กๆ แทนที่จะใช้เด็กเป็นเครื่องมือ และข้อสอง ในบริบทของกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากฎหมายแต่ละฉบับก็มีความล้าสมัย หรือไม่สมดุลอยู่แล้วในแต่ละยุคสมัย แต่กรอบของกฎหมายมีการออกแบบให้สามารถปรับแก้หรือยืดหยุ่นได้ด้วยตัวของกฎหมายนั้นๆ อยู่แล้ว หากไม่มีการล้ำเส้นสิ่งที่ควรจะเป็น
เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ต้องอธิบายให้เยาวชนเข้าใจ อย่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือในทางที่ผิดหรือตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ทุกคนควรเคารพกฏหมายและกติการ่วมกันของสังคม หากจะแก้ไขให้ใช้แนวทางการแก้ไขทางรัฐสภาสามารถแก้ไขได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้แก้ไขกฏหมายไปแล้วไปหลายฉบับเนื่องจากเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
“ครั้งหนึ่งผมเคยเจรจากับเยาวชน ที่พยายามมาประท้วงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะลงพื้นที่พบปะประชาชน ซึ่งก็ได้พบกับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่พาเด็กๆ เหล่านี้มาถือป้ายประท้วง เป็นคนคอยกำกับและควบคุมอยู่เบื้องหลัง ที่น่าตกใจก็คือ คนๆ นั้นพาลูกวัยประมาณ 10 กว่าขวบมาด้วย แต่ไม่ให้ลูกตัวเองถือป้าย ในขณะที่ผลักดันให้ลูกคนอื่นถือ นั่นแปลว่า ตัวผู้ใหญ่คนนั้นรู้ดีว่าอะไรทำแล้วผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมบอกหรืออธิบายให้เด็กเข้าใจ ซ้ำร้ายกลับใช้เด็กเป็นเครื่องมืออีก ครั้นเมื่อเกิดเป็นคดีความ ก็เบี่ยงเบนประเด็นไปว่า ไม่ยุติธรรมและโหดร้ายเกินไปสำหรับเด็ก
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคดีถึงชั้นศาล ศาลท่านก็มีความเมตตาอยู่แล้ว ดังเห็นได้จากคดีทางการเมืองที่ผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ส่วนใหญ่จะได้รับโทษสถานเบาและจะได้รับการปล่อยตัวหากพฤติกรรมไม่แย่จนเกินไป เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะผลักดันให้เด็กๆ เดินไปในทางที่ผิด ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ แทนที่จะเห็นเด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้ความเมตตาและโหดร้ายยิ่งกว่า”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน