วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 : ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (รองเลขาธิการ กช.) ลงพื้นที่เยี่ยมค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2566
ดร.ประพัทธ์ฯ กล่าวว่า ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีที่ 5 เป็นกระบวนการหนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิชาการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พัฒนานักเรียนที่มีความถนัดทางด้านวิชาการในวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ผ่านกระบวนการค่าย เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนแสดงความรู้ ความสามารถ พัฒนาทักษะชีวิต พบปะเพื่อนต่างสถาบัน เป็นเวทีจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจในการรักการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ต่อยอดความรู้และส่งเสริมให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแข่งขันกับนักเรียนในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมถึงเตรียมความพร้อมของนักเรียนในพื้นที่สู่ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)
สำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิชาการ ภายใต้กระบวนการค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีที่ 5 เป็นความร่วมมือทางวิชาการที่สำคัญระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียนโรงเรียนเอกชน
ซึ่งค่ายที่ 1 เป็นค่ายอบรมทางวิชาการ เพื่อให้นักเรียนได้ความรู้และฝึกทักษะทางวิชาการ นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนเปิดโลกการเรียนรู้นอกเหนือตำรา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2566 รวมระยะเวลา 10 วัน ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ สาขาวิชาละ 40 คน รวม 480 คน โดยจัดใน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์ที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2566 และศูนย์ที่ 3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ระหว่างวันที่ 12 – 21 พฤษภาคม 2566
จากนั้นจะทำการคัดเลือกนักเรียนจากค่ายที่ 1 ใน 4 สาขาวิชาดังกล่าว สาขาวิชาละ 30 คน รวม 120 คน เพื่อเข้าร่วมค่ายที่ 2 ในการอบรมทางวิชาการแบบเข้มข้นต่อไป ทั้งนี้นักเรียนจะได้ฝึกวิเคราะห์โจทย์ที่ยากกว่าข้อสอบในโรงเรียนทั่วไป ได้เรียนวิชาการต่าง ๆ ในระดับที่ลึกขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคต่างๆ กับคนอื่นที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้พัฒนาตัวเองได้ นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพและฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับประเทศ และเป็นใบเบิกทางสำหรับเข้าโควตามหาวิทยาลัยได้โดยตรง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน