นาโนเทค (สวทช.) พร้อม 10 หน่วยงานพันธมิตร แถลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ระยะที่ 2 ต่อยอดขยายการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักต่างๆ พร้อมเดินหน้าหนุนหน่วยงานเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ นำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสาขานาโนเทคโนโลยี ไปใช้เป็นแนวทาง ตั้งเป้า 2 หน่วยงานต้นแบบในปี 68 หวังกระตุ้นให้เกิดการนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสาขานาโนเทคโนโลยี ไปใช้สร้างความเชื่อมั่นให้ผลิตภัณฑ์ไทยในตลาดโลก
การลงนามความร่วมมือทางวิชาการใน “โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี” เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) (สวทช.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ต่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีภายในประเทศ
ความสำเร็จจากการดำเนินงานในระยะที่ 1 (2563-2565) มี 9 องค์กรทั้งภาครัฐ และสมาคมต่างๆ ร่วมขับเคลื่อน สนับสนุน และส่งเสริม ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการนำ มาตรฐาน และความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีสู่การประยุกต์ใช้ในในระดับมหภาค นำสู่การดำเนินงานในระยะที่ 2 (2566-2568) ที่มีการขยายความร่วมมือสู่ 11 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ นาโนเทค (สวทช.),กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.),สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.),สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.),สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.),สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.),สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.),สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท),สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สนทท.),กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมควบคุมมลพิษ
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า (อว.) มีวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ในการ “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” ซึ่งปัจจุบันแผนเศรษฐกิจ BCG คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และยังเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอีกด้วย
“นอกเหนือจากการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว การคำนึงถึงผลกระทบ ความเสี่ยงต่อผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนได้ ประเทศไทยจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ การสนับสนุนจากหน่วยในขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงการทำงานอย่างเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ และร่วมมือกันขับเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรฐาน และความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย” หัวหน้าผู้ตรวจราชการกล่าว
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน (สวทช.) มีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เอื้ออำนวยให้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ สามารถขยายไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลไกการสนับสนุนภาคธุรกิจและเครือข่ายอุตสาหกรรมของประเทศ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการนําสินค้าและบริการไปวิเคราะห์ทดสอบในต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สามารถปิดช่องว่างและตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเข้าถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญต้องให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“ที่ผ่านมา (สวทช.) ได้ผลักดันการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน ผ่านหน่วยบริการด้านการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐานสากล อาทิ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (สวทช.) (NCTC) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและเซรามิกอุตสาหกรรม (CTEC) ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) และศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES) ตลอดจน Technology Platform ของศูนย์แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยต่อการใช้งานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง” ศ.ดร.ชูกิจฯ กล่าว พร้อมย้ำว่า การสานต่อความร่วมมือในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์นาโนของไทยในตลาดโลก โดย (สวทช.) พร้อมที่จะเป็นขุมพลังหลักของประเทศ ร่วมกับพันธมิตรทุกๆภาคส่วน ในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยได้อย่างก้าวกระโดด
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทค ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี โดยมีการจัดทำแผนแม่บทขึ้นมารองรับ ซึ่งแผนแม่บทฉบับปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 กลยุทธ์ โดยมีกลยุทธ์การขับเคลื่อนการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนเป็นกลยุทธ์ที่ 3 ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีนั้น มีจุดมุ่งหมายในการนำไปถ่ายทอดและใช้งานเพื่อยกระดับ กระบวนการผลิตและอุตสาหกรรมในประเทศ และเกี่ยวข้องกับหลายหลายผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเมื่อมีการนำไปใช้จริงในภาคประชาสังคม ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับกับความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ที่จะต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนนาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
“การจะพัฒนานาโนเทคโนโลยีให้มีความยั่งยืนในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม จากการดำเนินงานร่วมกันในระยะที่ 1 มีการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรทั้งสิ้น 9 หน่วยงานที่สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ และได้สร้างการรับรู้เรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ให้กับภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมได้อย่างกว้างขวาง และในระยะที่สองก็มีพันธมิตรเพิ่มเติม คือ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมงานกับนาโนเทค เกี่ยวกับการจัดการวัสดุนาโน ซึ่งพันธมิตรทุกหน่วยงานจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการนำมาตรฐาน และความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีไปใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ และสังคมต่อไป” ดร.วรรณี กล่าว
พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า ความสำเร็จในระยะแรก มุ่งเน้นการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสาขานาโนเทคโนโลยี 7 ฉบับ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการนำมาตรฐานดังกล่าวไปปรับใช้กับองค์กรของตนในอนาคต ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ และการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงมาตรฐาน ความปลอดภัย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต
ซึ่งถือว่าการดำเนินการโครงการในระยะที่ 1 นั้นประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ซึ่งการดำเนินงานตลอดทั้งสองปี แม้ในระหว่างการดำเนินงาน 2 ปีที่ผ่านมา จะมีอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด -19 แต่เนื่องจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งสิ้น 9 หน่วยงานได้ร่วมกันคิดหาหนทางในการแก้ปัญหาทำให้การดำเนินประสบความสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี และในระยะที่ 2 นี้ ยังคงมุ่งเน้นสร้างความตระหนักในการนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี ไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม ในขณะเดียวกันก็เน้นกิจกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยี รวมถึงจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี อย่างน้อย 2 เรื่อง/ปี
“ที่สำคัญ เราคาดหวังให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม อย่างน้อย 2 หน่วยงานต้นแบบ นำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี ไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้เกิดระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นาโน ที่เชื่อมโยงกันทั้ง ภาคการผลิต ภาคบริการ และผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่ ที่สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยี สามารถลือกซื้อเลือกใช้ และสร้างมูลค่า ขยายตลาด เพิ่มการยอมรับทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก ต่อไป” พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ฯ ย้ำ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน