“เอ็มเทค (สวทช.) วิจัยพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถบรรทุกที่มีความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐาน สามารถผลิตขึ้นจากวัสดุที่หาได้ภายในประเทศและใช้กระบวนการผลิตที่ผู้ผลิตในประเทศทั่วไปทำได้ มีต้นทุนไม่สูงสามารถแข่งขันได้ พร้อมแนะแนวทางการออกแบบและผลิตให้แก่ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ผลิตรถ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้นำเข้า และผู้ประกอบตัวถังรถบรรทุกในประเทศ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิตรถบรรทุกในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และลดการนำเข้าอุปกรณ์
จากต่างประเทศ”
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย
ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) (สวทช.),ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้จัดการโครงการและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค (สวทช.) ร่วมกับ นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก
แถลงข่าวเปิดตัวอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถบรรทุก ยกระดับความปลอดภัยของรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) เป็นหน่วยงานวิจัยระดับประเทศ ที่มีเป้าหมายในการนำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างกระบวนการวิจัยและกลไกที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และ
ที่สำคัญคือประชาชนและชุมชนต้องเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง งานในวันนี้ เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า (สวทช.) เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ที่พร้อมทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วย
ตอบโจทย์ และให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย โดยหนึ่งในภารกิจหลักที่คณะวิจัยจาก เอ็มเทค (สวทช.) ที่ได้มีความร่วมมือมาต่อเนื่องกับกรมการขนส่งทางบก คือ ด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Road safety ที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ด้วยการออกแบบเชิงวิศวกรรมของโครงสร้างและชิ้นส่วนของรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล แต่ยังคำนึงถึงความพร้อมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งในด้านการผลิต หรือต้นทุน โดยคณะวิจัยจาก เอ็มเทค (สวทช.) ได้ร่วมกับสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งจากผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ผู้ประกอบการและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามความจำเป็นเร่งด่วน (สวทช.) ภายใต้ความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก มีความยินดียิ่งที่จะนำเสนอแนวทางการออกแบบ ให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแก่ผู้ประกอบการด้านการวิจัยและพัฒนาในการออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถบรรทุก นอกจากนี้ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP (สวทช.) ยังยินดีให้คำปรึกษาด้านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีกด้วย
นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้ให้ความสำคัญ กับความปลอดภัยและมุ่งที่จะลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางของประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะโดยที่ผ่านมาพบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ ของรถยนต์ในลักษณะมีการชนและมุดเข้าไปด้านท้ายของรถบรรทุก หรือการที่มีรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุแล้วลอดเข้าไปด้านข้างของรถบรรทุก มีจำนวนไม่น้อยกว่า 60 ครั้งต่อปี ด้วยเหตุนี้เอง กรมการขนส่งทางบกจึงได้ร่วมกับ เอ็มเทค (สวทช.) ดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดทำแบบมาตรฐานของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ เพื่อจัดทำร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่ง และเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. …. ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามข้อกำหนดของสหประชาชาติโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และตามความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้
ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร และผู้ใช้รถใช้ถนน
ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) (สวทช.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของเอ็มเทค สวทช. คือการนำผลงานวิจัยและพัฒนาเชิงวิศวกรรม โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Road safety มาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยมีบทบาทในการวิจัยพัฒนาภายใต้ความร่วมมือกับสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบกในครั้งนี้ คือ
• ศึกษาแนวทางการนำมาตรฐานสากล ได้แก่ UN R58 และ UN R73 มาประยุกต์ใช้ในการร่าง
ข้อกำหนดให้เหมาะสมสำหรับในประเทศ
• ออกแบบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (LUPD) และด้านท้าย (RUPD) โดยคำนึงถึง
1) ความแข็งแรงรองรับแรงปะทะจากการชนตามมาตรฐานสากล
2) วัสดุที่ใช้ผลิตสามารถหาได้ภายในประเทศ
3) กระบวนการผลิตที่ผู้ผลิตขนาดใหญ่และเจ้าของรถสามารถผลิตเองได้
4) น้ำหนักของอุปกรณ์ที่เหมาะสม และ
5) มีต้นทุนของการผลิตอุปกรณ์ที่ต่ำกว่าการนำเข้า
• จัดทำแบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (LPD) และด้านท้าย (RUPD) ของรถบรรทุกเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานร่วมกับ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุก ได้ให้ข้อมูลแก่คณะวิจัยในด้านขีดความสามารถในการผลิต ประเด็นอุปสรรคปัญหา จากประสบการณ์ผู้ใช้รถบรรทุกในประเทศ และร่วมพิจารณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดระยะเวลาการศึกษา
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้จัดการโครงการและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) (สวทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจาก สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ได้มีการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านขีดความสามารถในการผลิตประเด็นอุปสรรคปัญหา จากประสบการณ์ผู้ใช้รถบรรทุกในประเทศ ผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุก มาโดยตลอด และได้จัดทำแนวทางและเอกสารสำหรับผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุกในประเทศไทย ได้แก่
• แบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (LPD) และด้านท้าย (RUPD) เพื่อเป็นแบบสำหรับการผลิตที่ใช้วัสดุในประเทศ และต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้ารวมกว่า 90 แบบ บรรจุในเว็บไซต์ฐานข้อมูลแบบเชิงวิศวกรรมสำหรับผู้ผลิตและประกอบ รวมถึงประชาชนทั่วไป ในการเข้าถึงแบบเชิงวิศวกรรมสำหรับรถบรรทุกลักษณะต่างๆ
• จัดเตรียมเครื่องมือ ได้แก่ แท่นทดสอบอุปกรณ์ป้องกันด้านข้าง (LPD) และด้านท้าย (RUPD) ที่อ้างอิงมาตรฐาน UN R73 และ UN R58 ตามลำดับเพื่อเป็น “จุดตั้งต้น” ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ที่มีลักษณะรถบรรทุกที่หลากหลาย คณะวิจัยได้จัดทำแบบเชิงวิศวกรรมที่พร้อมนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย จากวัสดุที่หาได้ในประเทศ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า “Morphological matrix” หรือการผสมฟังก์ชันย่อยของแต่ละชิ้นส่วน โดยให้สามารถสับเปลี่ยนชิ้นส่วนหลักต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนที่ยึดกับแชสซีที่เรียกว่า สเตย์ (Stay) สเปเซอร์ (Spacer) และชิ้นส่วนรับแรงปะทะ ที่เรียกว่า โพรเทคทีพบีม (Protective beam) เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศทั้งรายใหญ่และรายย่อย สามารถเลือกใช้แบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้ายนำไปผลิตและติดตั้งได้เหมาะสมกับลักษณะรถต่างๆ ที่มีความหลากหลายในประเทศ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน