เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด และจัดแสดงในงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเปิดงานการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมของประเทศ ที่ร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน สิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 48 โดยมี ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย,ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.สมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้บริหาร และคณะนักวิจัย 38 หน่วยงาน เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งการจัดงานจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26–30 เมษายน 2566 โดยภายในงานฯ มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการกว่า 1,000 ผลงาน จากนานาประเทศกว่า 40 ประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า หนึ่งในบทบาทและภารกิจที่สำคัญของ (วช.) คือการ ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจเสนอชื่อของประเทศไทย ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต่างประเทศในการเปิดรับสมัครพิจารณาคัดเลือกผ่านกระบวนการของ (วช.) และได้นำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในการได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศและได้เผยแพร่ผลงาน รวมถึงได้แสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาชาวโลกในปีนี้ (วช.) ได้สนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย ด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จาก 38 หน่วยงาน มาร่วมนำเสนอ จำนวน 128 ผลงาน (วช.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้แสดงศักยภาพของคนไทยที่มีความสามารถในด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นที่ไม่แพ้ชาติใดในเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาตินี้และเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับให้ผลผลิตจากงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ (วช.) ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงภายในงานดังกล่าว จำนวน 128 ผลงาน จาก 38 หน่วยงาน ทั้งในระดับเยาวชนและนักวิจัย นักประดิษฐ์ จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยบูรพา,มหาวิทยาลัยนเรศวร,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยสวนดุสิต,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง,มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร,ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์,วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี,โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง,โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี,โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย,โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย,โรงเรียนพนมสารคาม,สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ,สถาบันวิจัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย,สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน),การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค,การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง,บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด,บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด,บริษัท อาร์แอนด์ดี รีเสิร์ช อินโนเวชั่นแอนด์ ซัพพลาย จำกัด,บริษัท ไอออนิค จำกัด,บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท 7 ดราก้อน อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท วินโดร์ วิว จำกัด และบริษัท เลนส์ แอนด์ สมาร์ทคลาสรูม จำกัด
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน