สืบเนื่องมาจากการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 77/2563 กรณี นายดนุเดช แสงแก้ว นายฐกร อรรถปฐมชัย และนายดนุสรณ์ สมบูรณ์ กับพวก ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กอันมีลักษณะเป็นการค้าและล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หรือ “เนเน่โมเดลลิ่ง” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ณ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพบหลักฐานเป็นไฟล์ภาพลามกอนาจารเด็กกว่า 500,000 ไฟล์
กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก ได้สืบสวนขยายผลจากไฟล์ภาพที่ตรวจยึดได้จากคดีเนเน่โมเดลลิ่งดังกล่าว จนทราบว่าเมื่อห้วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2550 ต่อเนื่องกัน นายอิทธิกร หรือนิค ทีฆคีรีกุล อายุ 53 ปี อาชีพรับดูแลนักแสดงเด็ก ละครช่องดังแห่งหนึ่ง ได้ใช้โอกาสที่ตนเองเป็นผู้ดูแลนักแสดง ได้พรากนักแสดงเด็กชื่อดัง อายุประมาณ 7 ปี ไปเสียจากการปกครองดูแลของ บิดา มารดา ผู้ปกครอง และกระทำอนาจารที่บ้านพักของนายอิทธิกรฯ ย่านคลองสาน กรุงเทพมหานคร โดยข่มขู่ดารานักแสดงดังกล่าว ว่าหากเล่าเรื่องให้บุคคลอื่นฟัง จะเปิดเผยเรื่องต่อสาธารณะ ซึ่งจะมีผลทำให้นักแสดงเสียชื่อเสียง และกระทบต่อการประกอบอาชีพ จนเด็กเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าเล่าเรื่องให้ใครฟัง
ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน จนสามารถยืนยันตัวบุคคลในไฟล์ภาพได้ นำไปสู่การนำผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน และสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม จนกระทั่งได้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับนายอิทธิกรฯ ตามกฎหมาย
ต่อมา ในวันที่ 20 เมษายน 2566 ศาลอาญาธนบุรีได้พิพากษาว่า นายอิทธิกรฯ จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม (เดิม),279 วรรคสอง (เดิม),317 วรรคสาม (เดิม) เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 คำให้การรับสารภาพของจำเลยภายหลังโจทก์สืบพยานไปบ้างแล้วมีประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารคงจำคุก 8 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี คงจำคุก 2 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายคงจำคุก 6 ปี รวมจำคุก 16 ปี กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 200,000 บาทและโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (25 สิงหาคม 2565) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
จากกรณีดังกล่าว แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก ยังคงรวบรวมพยานหลักฐาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถรื้อฟื้นคดีในอดีต เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันได้สำเร็จ ซึ่งยังมีเด็กที่เป็นผู้เสียหายในคดีละเมิดทางเพศเด็ก โดยเฉพาะในลักษณะของการถูกเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็กทางอินเทอร์เน็ต แต่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีผู้ใดทราบเบาะแส สามารถแจ้ง ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ที่ 1202 หรือ www.dsi.go.th
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน