ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน” รุ่นที่ 2
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 19 เมษายน 2566 : พลโทชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพน้อยที่ 1 (มทน.1) พร้อมด้วย นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน” โดยมี พันเอกจารุวัฒน์ วิภัทรเมธีกุล รองผู้บัญชาการโรงเรียนสารวัตรทหาร กรมการสารวัตรทหารบก นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ คณะวิทยากรกรมการสารวัตรทหารบก คณะผู้จัดงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมทั้งผู้บริหาร คุณครู และบุคลากรโรงเรียนเอกชน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมให้การต้อนรับและการอบรมฯ ในครั้งนี้ ณ รอยัลฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.นครนายก
พลโทชิษณุพงศ์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปราบยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการควบคุม ป้องกัน ปราบปราบ และแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ บั่นทอนความเจริญ ของประเทศชาติ ตนเล็งเห็นว่าประเทศใดมีประชาชนติดยาเสพติดจำนวนมาก ก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด มีความรุนแรงมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง ผู้เสพมีการใช้ยาเสพติดเกินขนาด ทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายบุคคลในครอบครัวและบุคคลอื่น จนเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นปัญหาที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจและเจ็บปวดให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่สูญเสียทุกคน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ และด้วยกองทัพภาคที่ 1 ได้มีการตระหนักและเห็นความสำคัญในการป้องกันการสูญเสียอันอาจจะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของบุคลากรโรงเรียนเอกชน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรมการสารวัตรทหารบก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ขึ้น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด โดยมีกรมการสารวัตรทหารบกจัดทำหลักสูตรและสนับสนุนวิทยากรในการฝึกอบรมที่มาให้ความรู้แก่บุคลากรโรงเรียนเอกชน ตนขอบคุณผู้บริหาร คุณครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงเรียนเอกชนที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้าร่วมการอบรมฯ ครั้งนี้อีกด้วย
นายมณฑลฯ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีความสําคัญต่อการพัฒนาประเทศ ในฐานะที่เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีบทบาทโดยตรงต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการและทิศทางของประเทศ การศึกษาจึงหมายถึงการพัฒนาบุคคลให้มีความเจริญงอกงามทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม การสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียนเป็นสิ่งสําคัญ ตนเห็นว่าความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ประสบผลสําเร็จตามเป้าประสงค์ขึ้นอยู่กับความสุขและการมีชีวิตที่ปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา สามารถป้องกันหรือได้รับการป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีความรู้ ความเข้าใจ จิตสํานึก และเจตคติที่ดี และมีทักษะในการป้องกันภัยสามารถหรือได้รับการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู และดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งตามภารกิจและหน้าที่สําคัญของกระทรวงศึกษาธิการ นั้น (สช.) จะต้องมีแนวนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนดำเนินงานด้านความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชน รุ่นที่ 2 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาจากการเปิดรับสมัครการอบรมดังกล่าวในรุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนเอกชนที่สนใจและได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมเป็นอย่างดี และตนหวังว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้จะส่งผลดีและสามารถเตรียมความพร้อมให้แก่สถานศึกษาของโรงเรียนเอกชนต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต และป้องกันภัยยาเสพติดในสถานศึกษาเอกชนให้กับบุคลากรโรงเรียนเอกชน” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของโรงเรียนเอกชนมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการป้องกันภัย สามารถป้องกันตนเองและบุคคลอื่นจากภัยหรือปัจจัยเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นได้ สามารถแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยการอบรมฯ รุ่นที่ 2 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 22 เมษายน 2566 มีบุคลากรโรงเรียนเอกชน รวมทั้งสิ้น 200 คน และได้รับความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 1 และกรมการสารวัตรทหารบก ในการจัดทำหลักสูตรและสนับสนุนคณะวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการอบรมอีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน