น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้กล่าวหลังจากหารือร่วมกับ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด กรณียกเลิกให้บริการช่องรายการ เอชบีโอ จำนวน 6 ช่องว่า เธอได้เชิญตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก ทรู วิชั่นส์ ที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นแล้ว ส่วน ทรู วิชั่นส์ ปฏิเสธเข้าร่วมรับฟัง ก่อนจะส่งหนังสือชี้แจงว่า ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อ คณะอนุกรรมการคุ้มครองฯ บริษัทยินดีให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ การหารือเรื่องดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยอาจเชิญ ทรู วิชั่นส์ เข้ามาชี้แจงรายละเอียดต่อ คณะอนุกรรมการคุ้มครองฯ อีกครั้ง ในวันที่ 17 มกราคมนี้ เนื่องจากต้องการทราบว่า จะทำอย่างไรคุณภาพช่องรายการใหม่ที่มาแทนกลุ่มช่อง เอชบีโอ จึงจะมีคุณภาพเท่ากับของเดิม หลังข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องการฟ้องศาลแพ่ง ระบุว่า มีปัญหาเรื่องคุณภาพของช่อง ขณะที่การร้องเรียนเข้ามาที่สายด่วน กสทช.1200 ปัจจุบัน มีผู้โทรเข้ามาสอบถามถึงเรื่องดังกล่าวประมาณ 50-60 คนต่อวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา
ด้าน นาย พีรภัทร ฝอยทอง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ฟ้องได้ ดอทคอม (www.fonngdi.com) และเป็นตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ ทรู วิชั่นส์ ไม่ร่วมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเขาเป็นสมาชิกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และมีจำนวนสมาชิกกว่า 1,100 ราย เข้ามาลงชื่อในเว็บไซต์ ว่าส่วนใหญ่ต้องการใช้บริการต่อไป แต่ไม่เห็นด้วยกับแผนการเยียวยาที่ ทรู วิชั่นส์ เสนอมาให้ ขณะที่เว็บไซต์ ได้จัดทำประเด็นการร้องเรียนต่อศาลแบบกลุ่ม แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.เรียกร้องให้ ทรู วิชั่นส์ ลดราคาแพ็คเกจลง 200-500 บาท ตามประเภทของแพ็คเกจ กรณีที่สมาชิกต้องการใช้บริการต่อ 2.ต้องการให้ ทรู วิชั่นส์ จ่ายเงินค่าชดเชย หรือค่าปรับให้กับสมาชิกที่ต้องการจะยกเลิกสัญญา กรณีที่ไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน สำหรับการยกเลิกช่องรายการ ทั้งหมดคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดร่วมกับทนาย เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้
นอกจากนี้ นาย พีรภัทร ยังกล่าวอีกว่า มติ กสท. ที่ให้ ทรู วิชั่นส์ ยกเลิกช่องรายการ โดยไม่มีการส่งแผนการเยียวยาลูกค้า และแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เขาคิดว่า มันไม่เป็นธรรม และอาจมีการยื่นเรื่องขออุทธรณ์ต่อมติ กสท. ต่อไป แต่ถ้า กสท. มีการตัดสินไม่เป็นธรรม ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะฟ้องการทำงานของ กสท. ต่อศาลปกครอง