“โคทม” หนุนทำประชามติรธน.ฉบับใหม่ ยึดโยงปชช. – ยืนยันไม่นั่งสภาปฏิรูป
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี
มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนทำประชามติว่า การทำประชามติ 1 ครั้ง ใช้เงินประมาณ
3,000 ล้านบาท ถ้าจะทำควรทำเรื่องของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่สำคัญจริง ซึ่งตนขอเสนอให้
ประชาชนที่แข็งขันมาจดทะเบียนกับสภาปฏิรูป แต่ละคนจะได้หมายเลขประจำตัว แล้วถ้าสภาปฏิรูป
อยากทราบความเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้โทรศัพท์เข้ามา
แล้วกดหมายเลข 13 หลัก เพื่อระบุตัวตน ตามด้วยหมายเลขประจำตัว แล้วจึงจะกดว่าเห็นด้วยหรือไม่
เห็นด้วย ซึ่งเป็นการลงประชามติแบบง่ายลำลองของประชาชนผู้สนใจจะมีส่วนร่วม ทั้งนี้
คนทั้งประเทศมีสิทธิ์ที่จะลงทะเบียนได้ ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้างพลเมืองที่แข็งขันในการ
ออกเสียงลงประชามติ ไม่ใช่พลเมืองที่นอนหลับทับสิทธิ์
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อลดความขัดแย้ง
นายโคทม กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรทำประชามติ เพื่อให้เป็นฐานรองรับความชอบธรรม
ของรัฐธรรมนูญ ตนอยากขอร้องผู้มีอำนาจว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งเป็นการตัดสินของสภา
นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่มีการทำประชามติก็ถือว่า
ไม่มีฐานจากประชาชน การขัดแย้งกันด้วยเหตุผลโดยไม่ผูกใจเจ็บ ตนคิดว่าเป็นทางหนึ่งที่น่าจะทำได้
ก็อยากให้เปลี่ยนใจในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม หากเราวางแผนการลงประชามติครั้งนี้ในลักษณะที่ตอบ
โจทย์ได้ ว่าถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะใช้อะไรเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะชัดเจนกว่าการลงประชามติ
รัฐธรรมนูญ 50 ที่ไม่มีใครตอบคำถามนี้ ตอบแค่ว่าถ้าไม่ผ่านเดี๋ยวไปว่ากัน
เมื่อถามว่า ได้รับการทาบทามจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ร่วมในสภาปฏิรูปด้วยหรือไม่
นายโคทม กล่าวว่า ตนคิดว่าตัวเองคงไม่เหมาะ ตนอยากจะทำงานปฏิรูปคู่ขนานที่สามารถแสดงความคิด
เห็นที่ต่างคนต่างเคารพกัน ซึ่งควรจะต้องมีส่วนที่คู่ขนานไปกับสภาปฏิรูป แต่ไม่ได้หมายถึงการตั้งสภา
ปฏิรูปคู่ขนาน แต่เป็นการที่แต่ละฝ่าย แต่ละเครือข่ายช่วยกันเดินหน้าปฏิรูป ซึ่งจะช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์
และเสนอแนะต่อสภาปฏิรูปได้