สอบสวนเสร็จสิ้นและมีภารกิจสำคัญรวม 39 คดี
ปกป้องเรียกคืนทรัพย์สินให้รัฐได้กว่า 9,500 ล้านบาท
เมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงผลการดำเนินงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวน
คดีพิเศษ,พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ,ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ,ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้อำนวยการกองคดีฯ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่เกี่ยวข้อง
จากนโยบายบริหารราชการของ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายด้วยการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมาย เร่งรัดการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับคดีพิเศษ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงพร้อมรับการตรวจสอบกระบวนการทำงานในทุกมิติ โดยให้มีการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร
กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีการแถลงผลการดำเนินงาน โดยมีคดีพิเศษที่สอบสวนเสร็จสิ้นและภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – 5 เมษายน 2566 จำนวน 39 คดี โดยจำแนกตามประเภทคดีพิเศษเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1.คดีพิเศษด้านเศรษฐกิจ จำนวน 10 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร
กรณียื่นใบขนสินค้าสำแดงถิ่นกำเนิดเป็นเท็จ นำเข้ารถเมล์ NGV ขสมก. 489 คัน
มูลค่าภาษีที่เรียกคืนให้กับรัฐ 2,180,000,000 บาท
• คดีแชร์ลูกโซ่
- กรณีการดำเนินคดีกับบุคคล จำนวน 16 ราย เกี่ยวพันกับกรณี Forex-3D
- กรณีหลอกลวงให้ร่วมลงทุนธุรกิจสปอร์ตอาร์บิตทราจ (Sport Arbitrage)
รวมมูลค่าความเสียหาย 2,668,000,000 บาท
• คดีฟอกเงิน - กรณีผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฟอกเงิน โดยนำเงินไปฝากและให้เงินกู้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด
- กรณีกลุ่มบุคคลร่วมกันทำธุรกรรมทางการเงินที่มีจำนวนสูงผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับรายได้และยังไม่ปรากฏแหล่งที่มาของรายได้ดังกล่าว ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดยาเสพติด และเล่นการพนันออนไลน์
- คดีฟอกเงินในความผิดมูลฐาน บริษัท เดอะ ซิสเต็ม ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ จำกัด กับพวก หลอกลวงให้ร่วมลงทุน
- คดีฟอกเงินในความผิดมูลฐานร่วมกันหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง
รวมมูลค่าทรัพย์สิน 3,375,000,000 บาท
• คดีความผิดตามกฎหมายควบคุมและแลกเปลี่ยนเงิน
กรณีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์ร่วมกันวางแผนให้นิติบุคคล จำนวน 13 ราย หลอกลวงขอเบิกใช้เงินสินเชื่อจากธนาคาร แล้วให้ธนาคารโอนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ไปยังบัญชีธนาคารปลายทางที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์
มูลค่าความเสียหาย 826,000,000 บาท
2.คดีพิเศษด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 3 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีปลอม/เลียนเครื่องหมายการค้า
- กรณีเฟซบุ๊กชื่อ “กระเป๋า Babybag store” ลักลอบจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทกระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม หรือ เลียนเครื่องหมายการค้า
- กรณีมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในพื้นที่ตลาดโรงเกลือ จังหวัดนครนายก จำหน่าย เสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าประเภทกระเป๋าและสินค้าอื่นๆ ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม
รวมมูลค่าของกลาง 24,000,000 บาท
• คดีสินค้าไม่ผ่าน มอก. และ กสทช.
กรณีกลุ่มบุคคลชาวต่างชาติร่วมกับคนไทยเป็นตัวแทนร่วมกันลักลอบนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เปิดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซื้อ-ขาย สินค้าออนไลน์ และสินค้าเหล่านั้นไม่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และไม่ผ่านการตรวจสอบจาก กสทช. จำนวนสินค้า 17,900 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 23,000,000 บาท
3.คดีพิเศษด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จำนวน 19 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบและบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ/ที่ดินของรัฐ
- กรณีกลุ่มบุคคลสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนางและป่าหางนาค อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
- กรณีการออกโฉนดโดยมิชอบ รายโรงแรมนิกกี้ บีช คลับ ที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และการบุกรุกครอบครองที่สาธารณะประโยชน์บริเวณหาดเลพัง
จำนวนเนื้อที่ 97 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา มูลค่าความเสียหาย 342,212,500 ล้านบาท
4.คดีพิเศษระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ จำนวน 7 คดี มีคดีที่สำคัญ ดังนี้
• คดีเจ้าพนักงานทุจริต/ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
- กรณีทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด
- คดีทุจริตเบิกค่าล่วงเวลาฯ ของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย แล้วใช้เอกสารแห่ง
การทุจริตดังกล่าวฟ้องต่อศาลแรงงาน - คดีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) จำนวน 163 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลค่า 3,710 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 และต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาจำคุกอดีตข้าราชการตำรวจในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญาและชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง พร้อมกันนั้น คณะกรรมการ (ป.ป.ช.) ยังมีมติชี้มูลความผิดอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
• คดีค้ามนุษย์และความผิดทางเพศ - กรณีขบวนการค้ามนุษย์ออนไลน์ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ
- กรณีกองต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์ ขอให้ตรวจสอบร้านอาหารมีพฤติการณ์ให้พนักงานขายบริการทางเพศแอบแฝงพื้นที่เกิดเหตุ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้ดำเนินการด้านป้องกันการเกิดอาชญากรรมพิเศษ ด้วยการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของเครือข่ายในการป้องกันอาชญากรรม
คดีพิเศษ ยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถปกป้องตนเองได้ เกิดเป็น “DSI Station” ภาคประชาชน และศูนย์เรียนรู้ฯ ในประเทศไทย 28 ศูนย์ และต่างประเทศ 9 ศูนย์
และในด้านอำนวยความยุติธรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้นำแนวคิดจากนโยบายมาพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน เช่น การแก้ไขปัญหาพื้นที่ต้นน้ำย่าง อำเภอปัว จังหวัดน่าน และการบูรณาการร่วมกับจังหวัดภูเก็ตในการเรียกคืนชายหาดเลพัง-ลายัน
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคดีพิเศษ
ในห้วงระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 5 เมษายน 2566 สามารถปกป้อง เรียกคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชน รวมมูลค่า 9,541,963,056.92 บาท
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน