กรมชลฯ คาดว่า สถานการณ์น้ำล้นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในคืนนี้ (10 ม.ค.) ยืนยันไม่กระทบต่อความมั่นคงของอ่าง ส่วนสถานการณ์น้ำใน จ.นครศรีธรรมราช จะคลี่คลาย 15-16 ม.ค.นี้
นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำท่วมใน จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นสถานการณ์หนักที่สุดในน้ำท่วมภาคใต้ โดยแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนลุ่มน้ำปากพนัง ลุ่มน้ำอื่นๆ และอำเภอเมือง ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา น้ำที่ท่วมในตัวอำเภอเมืองลดลงแล้ว เหลือเพียงมวลน้ำที่ค้างอยู่ในลุ่มน้ำปากพนังรวมพันล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานอยู่ระหว่างการผลักดันน้ำออกจากลุ่มน้ำวันละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำปากพนังจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายในวันที่ 15-16 มกราคมนี้ ทั้งนี้กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 49 เครื่อง และเรือผลักดันน้ำรวม 50 ลำ
ส่วน จ.ตรัง น้ำจากแม่น้ำตรังตอนบน ได้ไหลผ่านแม่น้ำตรังและตัวเมืองตรัง ระดับน้ำท่วมที่เคยท่วมสูงเมตรกว่า และทยอยลดลงชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร และจะลดลงเร็วขึ้นคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 12 มกราคมนี้
ด้าน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ลุ่มน้ำพุมดวง ระดับน้ำจะล้นตลิ่ง (สูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร) หรือ พีคที่ อ.พระแสง เมื่อ 12.00 น. ที่ผ่านมา คาดว่าระดับน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ ในวันที่ 12 มกราคมนี้
จากนั้นน้ำจาก อ.พระแสง จะไหลมายัง อ.เคียนซา คาดว่าระดับน้ำจะพีค ในวันที่ 13 มกราคมนี้ และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 16 มกราคม จากนั้นน้ำจาก อ.เคียนซาจะไหลเข้าสู่ อ.พุนพิน พีคในวันที่ 15 และจะเข้าสู่ภาวะปกติวันที่ 18 มกราคม ยืนยันน้ำจะไม่กระทบตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพเรือจะนำเรือผลักดันน้ำลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มเติมจำนวน 40 ลำ และกรมชลประทาน มีเครื่องผลักดันน้ำรวม 10 เครื่อง
ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ลุ่มน้ำบางสะพาน แม้เป็นลุ่มน้ำขนาดเล็ก แต่มีความลาดชัน น้ำจึงไหลเร็วมาสู่ อ.บางสะพาน ทำให้ฝนตกเพิ่มปริมาณน้ำไหลลงอ่างโป่งสามสิบ ซึ่งจุปริมาณน้ำได้ 850,000 ลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำคลองลอย จุปริมาณน้ำได้ 260,000 ลูกบาศก์เมตร โดยพบว่ามีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนโป่งสามสิบจำนวนมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามทำนบดินของเขื่อนความสูงกว่า 1 เมตร แต่ปัจจุบันน้ำลดลงแล้ว ส่วนความแข็งแรงของเขื่อนดินยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองลอยอยู่ในระดับปกติ
ทั้งนี้ น้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง ได้ไหลเข้าสู่อำเภอบางสะพาน และพีคสุดเมื่อ 01.00 น. ที่ผ่านมา จนน้ำท่วมตลิ่ง 1 เมตร 16 เซนติเมตร ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาน้ำทะเลขึ้น-ลง คาดการณ์ ว่าภายในคืนนี้ (10 ม.ค.60) ระดับน้ำที่อำเภอบางสะพานจะลดลง
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า แม้หย่อมความกดอากาศต่ำได้ออกจากพื้นที่ภาคใต้ไปยังทะเลอันดามันแล้ว แต่จะมีฝนตกอีกครั้งในวันที่ 15-16 มกราคม ซึ่งกรมชลประทานจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยืนยัน น้ำท่วมในภาคใต้บริหารจัดการได้ดีกว่าน้ำท่วมในปี 2554 เนื่องจากสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็ก
ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการ ได้ยกระดับการจับตามถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ความรุนแรงในระดับที่ 3 เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา จากเดิมระดับที่ 2 น้ำท่วมในจังหวัดเดียวและระดับที่ 1 น้ำท่วมในบางอำเภอ ส่วนระดับความรุนแรงของน้ำท่วมในปี 2554 น้ำท่วมอยู่ในระดับที่ 4 และ ศูนย์ฯดังกล่าวมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ