ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัย-บริการวิชาการ โครงการธนาคารปูม้า ในงานมหกรรมหนังฉายชายเล ท่องเที่ยวเล แลเสน่ห์อ่าวไทย” ครั้งที่ 2 พร้อมชวนนักท่องเที่ยวชาวไทยชาวต่างชาติ ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้ากว่า 10 ล้านตัวสู่ทะเลที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ได้นำทีมนักวิจัยเดินทางเข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเล แลเสน่ห์อ่าวไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของอ.เกาะสมุย ภายใต้ชื่อ “หนังฉาย ชายเล” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2566 โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย และนำผลิตภัณฑ์จากโครงการธนาคารปูม้า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลหรือ U2T for BCG รวมถึงโครงการวิจัยอื่นๆที่ดำเนินการบนพื้นที่อ.เกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมจัดแสดง พร้อมชวนนักท่องเที่ยวร่วมกันปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าจำนวนรวมกว่า 10 ล้านตัว สู่ทะเลสมุย ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจร่วมจำนวนมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี กล่าวถึงโครงการธนาคารปูม้าว่า นอกจากมีการดำเนินการในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชแล้ว เรายังได้ขยายผลโครงการไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เพื่อทำให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มกันและรักษาซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีมูลค่าเอาไว้ ซึ่งธนาคารปูม้าที่เกาะสมุย มีจำนวน 7 ชุมชน โดยผลผลิตของโครงการที่เห็นได้ชัดนั่นคือ จากเดิมชาวประมงจับปูม้าได้ไม่เกินวันละ 5 กก. ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10-15 กก.ต่อวัน บางช่วงมากถึง 40 กก. สามารถทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยโครงการธนาคารปูม้ายังมีการเพิ่มมูลค่าของปูม้าให้มากขึ้น โดยการทำเป็นเมนูอาหารอัตลักษณ์ของพื้นที่ เช่น โรตีมะตะบะปูม้า ข้าวหมกปูม้า ปูม้าอบเส้นแก้ว ข้าวเหนียวมูนหน้าปูม้าฯลฯ พร้อมทั้งเชื่อมโยงระหว่างธนาคารปูม้ากับผู้ประกอบการภาคธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว นำเสนอเป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีประมง มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ปล่อยปูม้าสู่ทะเลระหว่างการมาพักกับโรงแรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของสัตว์ทะเลโดยเฉพาะปูม้าอีกด้วย
“เกาะสมุยและเกาะพงันเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ม.วลัยลักษณ์เข้ามาร่วมทำงานวิจัยจะเป็นประโยชน์กับชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวิถี ไม่ได้ท่องเที่ยวแบบสนุกสนานอย่างเดียววันนึงหากเจอสถานการณ์วิกฤติอย่างโควิดชุมชนก็ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่หากชูการท่องเที่ยวเรื่องของวิถีชุมชน เรื่องของอัตลักษณ์ชุมชน แม้ว่าจะเกิดวิกฤตก็จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้เป้าหมายและแนวทางของการทำงานวิจัยและบริการวิชาการของ ม.วลัยลักษณ์ คือเราจะทำให้เกิดความต่อเนื่อง มั่นคง ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับชีวิตของชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้และมีความยั่งยืนนั่นเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน