โรคแผลร้อนใน หรือ แผลแอฟทัส (Aphthous ulcer, Aphthous stomatitis, Canker sore, Recurrent aphthous ulcer – RAU, Ulcerative stomatitis) คือ โรคจากการมีแผลเปื่อยในช่องปากที่พบได้บ่อย อาจเกิดบริเวณส่วนใดของช่องปากก็ได้ อาจจะมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผล แผลอาจมีขนาดเล็กไม่ถึงเซนติเมตรหรืออาจใหญ่เป็นหลายเซนติเมตรก็ได้ ส่วนความเจ็บจะขึ้นอยู่กับขนาดของแผลและความรุนแรงของโรค โรคนี้มักจะเป็นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง นอกจากสร้างความรำคาญ
แผลร้อนในเป็นโรคที่พบได้บ่อยตั้งแต่ในเด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ แต่มักจะพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในผู้หญิงจะพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย เมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นห่างออกไปเรื่อย ๆ และบางรายอาจหายขาดเมื่อมีอายุมาก จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประมาณ 15-30% ของประชากรทั่วโลกจะเป็นโรคนี้ บางคนอาจเกิดได้ประมาณน้อยกว่า 4 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยประมาณ 80-90% ของผู้ป่วย แต่บางคนก็อาจเกิดบ่อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยประมาณ 10% ของผู้ป่วย
สาเหตุของแผลร้อนใน
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน และอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกายด้วย โดยพบว่าประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้บ่อย ๆ จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย (สาเหตุจากพันธุกรรม) จึงทำให้เชื่อได้ว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และโดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีสิ่งมากระตุ้น แต่ในส่วนน้อยก็พบว่ามีสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นมาได้เช่นกัน ได้แก่
- ความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า อารมณ์โมโหฉุนเฉียว เช่น เครียดจากการทำงาน การอ่านหนังสือสอบมาก ๆ หรือเครียดจากปัญหาภายในครอบครัว (เพราะจากการศึกษาพบว่า การเกิดแผลร้อนในมีความสัมพันธ์กับอาชีพและระดับความวิตกกังวล)
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย (เชื่อว่าเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของสิ่งที่มากระตุ้น)
- การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดในขณะเคี้ยวอาหาร หรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรือจากอาหารแข็ง ๆ เข้าไปกระทบกระแทกในช่องปาก
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาอะเลนโดรเนตที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน (Alendronate) เป็นต้น
- การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ของทอด ของมัน เนื้อติดมัน เหล้า เบียร์ ขนมปังเบเกอรี่ ของหวาน ไอศกรีม ผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ
- การรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
- การแพ้อาหารบางอย่าง เช่น นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต แป้งข้าวสาลี ของเผ็ด ผลไม้จำพวกส้ม ฯลฯ รวมไปถึงสารเคมีในอาหารหรือในสิ่งที่บริโภคบ่อย ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก
- การแพ้สารบางอย่างในยาสีฟัน เช่น จากการใช้ยาสีฟันที่เจือปนสาร Sodium lauryl sulfate หรือ Sodium lauroyl sarcosinate
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (เนื่องจากพบเซลล์เม็ดเลือดขาวได้สูงในผู้เป็นแผลร้อนใน)
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Helicobacter pylori
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม
- ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี (โดยเฉพาะวิตามินบี 12)
- การมีประจำเดือนของสตรี บางครั้งโรคนี้อาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนของฮอร์โมน เนื่องจากพบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงใกล้หรือมีประจำเดือน แต่จากการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนได้
- การเลิกบุหรี่ เนื่องจากโรคนี้จะพบได้น้อยในคนที่สูบบุหรี่
- ในทางการแพทย์แผนตะวันออกเชื่อว่า “อาการร้อนในเกิดจากการขาดสมดุลของหยินและหยาง” โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่
- อาหารและร่างกาย : ร่างกายของคนเราจะมีลักษณะเป็นหยินเป็นหยางต่างกัน ถ้าคนที่มีลักษณะเป็นหยาง (ร้อน) มากกว่าหยิน (เย็น) ไปกินอาหารที่เป็นหยางเข้าไปมาก ๆ ก็จะทำให้หยางในร่างกายเพิ่มขึ้น เมื่อร่างกายขาดสมดุลมากก็ทำให้เกิดอาการร้อนในตามมา (อาหารที่เป็นหยิน (เย็น) คืออาหารชนิดที่กินเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกชุ่มคอ รู้สึกสบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารจำพวกผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ส่วนอาหารที่เป็นหยาง (ร้อน) จะเป็นอาหารที่มีรสเผ็ด รสที่ค่อนข้างจัด หรือว่าเข้มข้น (เช่น แกงเผ็ด ส้มตำ ข้าวเหนียว) รวมถึงอาหารทอดทุกประเภท ถ้าเป็นผลไม้ก็เช่น ขนุน ทุเรียน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ฯลฯ)
- อากาศ : มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสาเหตุแรก กล่าวคือฤดูกาลที่เปลี่ยนไปมักจะมีแนวโน้มทำให้เกิดหยินกับหยางในลักษณะที่ต่างกัน เช่น ในฤดูร้อน ความเป็นหยาง (ร้อน) ก็จะสูงขึ้น เนื่องจากอากาศที่ร้อน เป็นต้น
อาการของแผลร้อนใน
อาการสำคัญของแผลร้อนในคือ มีแผลเปื่อยเจ็บในช่องปากแบบเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำเมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้น (เช่น ความเครียด การแพ้อาหารบางชนิด กัดถูกปากตัวเอง การใช้ยาบางชนิด การมีประจำเดือน ฯลฯ) หรืออาจจะเป็นขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นก็ได้
โดยแรกเริ่มผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตรงตำแหน่งที่จะเกิดแผลเปื่อย ตามมาด้วยรอยแดง ๆ ลักษณะกลม ๆ หรือเป็นรูปไข่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนมีแผลเปื่อยประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจึงเกิดแผลเปื่อยขึ้นตรงรอยแดงนั้น ส่วนของขนาดแผลนั้นก็มีตั้งแต่ขนาดไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร โดยอาจเป็นเพียงแผลเดียวหรือมีหลายแผลก็ได้
อาการเจ็บแผลจะเป็นมากในช่วง 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบมากขึ้นเวลากินอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสเปรี้ยวจัด ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เจ็บมากจนกลืนหรือพูดจาไม่ถนัดได้ เมื่อแผลเริ่มหายอาการเจ็บแผลจะลดน้อยลง (โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักไม่มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด)
แผลร้อนในสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะตามความรุนแรงของโรค ดังนี้
- แผลร้อนในเล็ก (Minor aphthous ulcers) เป็นแผลร้อนในที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80% ของแผลร้อนในทั้งหมด จะเป็นแผลตื้นลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร หรือไม่เกิน 1 เซนติเมตร พื้นแผลจะเป็นสีขาวหรือเหลือง และมีคราบไฟบริน (Fibrin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวปกคลุมอยู่ มีวงสีแดงเป็นขอบอยู่โดยรอบแผล มักเป็นแผลเรียบ ไม่นูน หรือขอบอาจบวมเล็กน้อย และเมื่อใกล้หายพื้นแผลจะกลายเป็นสีเทา ๆ ส่วนตำแหน่งที่เกิดของแผลนั้นมักขึ้นบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้มและลิ้น (ด้านข้างและด้านใต้) นอกจากนี้ยังอาจพบได้ที่เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย พื้นปาก (เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ลิ้นและเหงือก) แต่มักจะไม่พบได้ที่เหงือก เพดานแข็ง และลิ้นด้านบนเหมือนชนิดที่ 2 โดยอาจจะเป็นเพียงแผลเดียวหรือเป็นหลายแผล (2-5 แผล) พร้อมกันก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง และแผลมักจะหายไปได้เองภายใน 7-14 วัน โดยส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เป็นแผลเป็น และอาจกำเริบเป็นซ้ำได้ทุก 1-4 เดือน
- แผลร้อนในใหญ่ (Major aphthous ulcers) เป็นแผลร้อนในที่พบได้ประมาณ 10-15% ของแผลร้อนในทั้งหมด พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่เลยช่วงวัยรุ่นไปแล้ว แผลจะมีลักษณะแบบเดียวกับแผลร้อนในเล็ก แต่แผลจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไป และมักเป็นแผลลึก ขอบแผลบวม มีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่า นอกจากจะพบในตำแหน่งเดียวกับแผลร้อนในเล็กแล้ว ยังอาจพบแผลได้ที่เพดานแข็งและลิ้น (ด้านบน) ได้ด้วย แผลชนิดนี้มักจะหายได้ช้านานเป็นเดือน ๆ (ปกติจะใช้เวลาประมาณ 10-40 วัน) และเมื่อหายแล้วอาจเป็นแผลเป็น (ก่อให้เกิดพังผืดของเนื้อเยื่อที่เกิดแผล) และมักกำเริบเกิดซ้ำได้บ่อยมาก ในบางครั้งอาจพบได้ในผู้ป่วยเอดส์ ถ้าหลังจากดูแลตนเองแล้วแผลร้อนในไม่ดีขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ ควรรีบไปพบแพทย์เสมอ เพื่อแยกจากแผลอักเสบติดเชื้อหรือแผลมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- แผลร้อนในชนิดคล้ายเริม (Herpetiform ulceration) เป็นแผลร้อนในที่พบได้ประมาณ 5-10% มีความรุนแรงกว่าทั้งสองชนิดที่กล่าวมา ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม มักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่หรือในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 2 ชนิดดังกล่าว และมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในช่วงแรกจะขึ้นเป็นตุ่มใสขนาดเล็ก ๆ (ขนาดประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร) หลายตุ่ม แล้วแตกแผ่รวมเป็นแผลเดียวขนาดใหญ่ (คล้ายแผลร้อนในใหญ่) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง พบได้ในตำแหน่งต่าง ๆ ในช่องปากแบบเดียวกับแผลร้อนในใหญ่ แผลชนิดนี้สามารถหายได้เอง แต่จะใช้เวลานานกว่า 10 วันขึ้นไปจนถึง 2 เดือน ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วมักต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เพราะผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแผลมากจนกระทบต่อการกินอาหารและการดื่มน้ำ เมื่อได้รับการรักษาแล้วแผลมักจะหายไปภายใน 1 เดือน และมักจะไม่เกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็น
หมายเหตุ : อาการร้อนใน มิได้หมายถึงอุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้นแต่อย่างใด เพราะอาการตัวร้อนอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับร้อนในก็เป็นได้
ผลข้างเคียงของแผลร้อนใน
โดยปกติแล้วแผลร้อนในเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มักหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง และมักจะไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น (ยกเว้นในกรณีที่แผลเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่จะทำให้แผลหายช้าลง หรือในกรณีที่เป็นแผลร้อนในใหญ่และแผลร้อนในชนิดคล้ายเริม) โดยทั่วไปจึงไม่พบผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้
อนึ่ง ยังไม่เคยมีรายงานว่าแผลร้อนในจะกลายเป็นโรคมะเร็งได้ (แต่แผลโรคมะเร็งอาจทำให้มีแผลเหมือนแผลร้อนในได้) แต่ทางที่ดีเมื่อเป็นแผลในช่องปากทุกชนิดรวมทั้งแผลร้อนใน ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่หายภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดเสมอ เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้น ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบโรคมะเร็งช่องปากได้สูงขึ้น
การวินิจฉัยโรคแผลร้อนใน
โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยแผลร้อนในได้จากการดูประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจดูแผลในช่องปาก ซึ่งก็เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคแผลร้อนในหรือไม่ แต่ในบางครั้งลักษณะของแผลอาจไม่แน่ชัด แพทย์อาจป้ายสารคัดหลั่งจากแผลเพื่อการย้อมสี และ/หรือตรวจเพาะเชื้อ หรือขูดเอาเซลล์จากแผลเพื่อไปตรวจทางเซลล์วิทยา หรือตัดเอาชิ้นเนื้อจากแผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยเฉพาะเมื่อสงสัยว่าอาจเป็นแผลจากโรคมะเร็งช่องปาก