สื่อต่าง ๆ รายการทีวีวิทยุกระหน่ำทำแนวลูกทุ่ง จนเพี้ยน เฟ้อ อิ่มล้นตลาดจำแทบไม่ได้ว่าใครร้องเพลงอะไรใครชื่ออะไร รายการอะไรเปิดช่องไหนก็มีแต่ลูกทุ่ง.
หากพูดถึงวงการเพลงลูกทุ่งบ้านเรา ในช่วงปีหลัง ๆ ถือว่าเป็นช่วงขาลง ที่ไม่สามารถขายซีดีผลงานเพลงได้ เพราะมีแผ่นผีซีดีเถื่อนเกลื่อนตลาด รวมไปถึงแผงต่าง ๆ ที่มีสรรพสิ่งเกี่ยวกับความบันเทิงเริงรมย์ในรูปแบบต่าง ๆ วางขาย มาเป็นยุคดาวน์โหลด ที่ทำเอานายทุนถอนตัวกันเป็นแถว
จนกลายมาเป็นช่วงขาขึ้นของวงการลูกทุ่ง ที่มีเม็ดเงินการจ้างงานแสดงสดตามวัด, งานประจำปี งานเทศกาล ปีละเป็นพันล้าน, ราคาค่าตัวศิลปินถีบสูงขึ้นสูงสุดในช่วงกลางปี 58 จนถึงต้นปี 2559 เรียกว่าศิลปิน-นักร้องลูกทุ่งระดับแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง ใบเตย อาร์สยาม, หญิงลี ศรีจุมพล, จ๊ะ อาร์สยาม, ก๊อท จักรพันธ์, ตั๊กแตน ชลดา ค่าตัวโชว์งานหนึ่งหลักแสนขึ้น ยังไม่มีคิวให้จ้างต้องจองล่วงหน้า วิ่งเต้นกว่าจะได้คิว จ่ายมัดจำล่วงหน้ากันเป็นครึ่งค่อนปี
ทำให้ศิลปิน-นักร้องเบอร์รองลงมา คิวเต็มตามไปด้วย เพราะทั่วทุกหัวระแหงในประเทศ จัดงานคอนเสิร์ต โปรโมตสินค้า ก็จ้างวงดนตรีเดินสายแสดงทั่วประเทศ จนมีการสร้างเวทีวงดนตรีขนาดยักษ์เป็นพันเวที ในหลายจังหวัด จนกลายเป็นเครือข่ายที่ขยายตัวขึ้นตามลำดับ
ความยิ่งใหญ่เกิดจากการจ้างงานที่มาก มายมหาศาล จนทำให้เป็นเป้าหมายใหญ่ของนายทุนและค่ายเพลงทุกค่าย ศิลปินทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นแนวสตริง, แนวเพื่อชีวิต, หรือแนวแดนซ์ ทิ้งที่มั่นและแนวคิดพุ่งตัวลงมาเข้ากลุ่มสายลูกทุ่งเพราะมีงานจ้างเยอะ พูดง่าย ๆ เห็นนักร้องลูกทุ่งรับงานแล้วก็อยากรวยตามไปด้วย ทุกคนจึงมาลงทุนโปรโมต ผสมเพลงทุกแนวเพื่อมาลงโฆษณาสายลูกทุ่ง
สื่อต่าง ๆ รายการทีวีวิทยุกระหน่ำทำแนวลูกทุ่ง จนเพี้ยน เฟ้อ อิ่มล้นตลาดจำแทบไม่ได้ว่าใครร้องเพลงอะไรใครชื่ออะไร รายการอะไรเปิดช่องไหนก็มีแต่ลูกทุ่ง แถมแบ่งแยกค่าย บ้างก็มีสื่อเอง เปิดแต่ผลงานเพลงของตัวเอง ประกวดเพลงแต่ของตัวเอง เอาเรื่องลิขสิทธิ์มาเป็นแกนหลัก นี่คือจุดที่ทำให้ “ฟองสบู่แตก”
เมื่อเฟ้อ ก็ต้องแฟบ! ความจริงคือ ที่มีอยู่มากมายกว่า 40 ค่าย ยังไม่รวมค่ายท้องถิ่นที่ทำเพื่อโปรโมตสายโซเชียล พวกยูทูบ, เฟซบุ๊ก และรอฟลุก แต่ก็มีหลายคนประสบความสำเร็จจากวิธีนี้ เช่น วงพัทลุงพารฮัท, ก้อง ห้วยไร่ ฯลฯ แล้วก็รับทรัพย์ก้อนโตจากงานจ้าง จากความดังทางอินเทอร์เน็ต จนตอนนี้มีค่ายน้องใหม่เฮทะลักสร้างเพลงลงยูทูบ ส่วนใหญ่เกิดจากความหวังรวยจากวงการนี้ แต่คนทำงานจริง ๆ ที่เป็นคนลูกทุ่งแท้ ๆ และเข้าใจงานเหล่านี้มีน้อย ทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ
ทุกอย่างจึงล้มระเนนระนาดเป็น “ฟองสบู่แตก” หลายค่ายปิดตัวลงในช่วงกลางและปลายปี 59 ค่ายยักษ์ใหญ่ก็ย่อทีมงานลง ลดต้นทุนการผลิตถึงขนาดประกาศให้นักร้องลงทุนทำเพลงด้วยเงินของตัวนักร้องเอง พูดง่าย ๆ นักร้องคนไหนอยากจะมีผลงานเพลงของตัวเอง ก็ควักกระเป๋าเองแหละกัน…ปัจจุบันนี้มีค่ายเพลงปิดตัวลงกว่าสิบค่ายแล้ว มีนักร้องหลุดสัญญามากมายหลายคน พานไปถึงสายของสื่อลูกทุ่งที่เปิดกันเพียบ ต้องโบกมือบ๊ายบาย ปิดตัวไปตาม ๆ กัน เช่น รายการ “ชิงช้าสวรรค์” ที่อยู่บนหน้าจอช่องโมเดิร์นไนน์มาประมาณ 12 ปี ยังเลิก, ช่องฮิตสเตชั่น, ช่องไทยไชโย ก็เลิกผลิตรายการสด ยิ่งช่องดาวเทียมอย่างลูกทุ่งทีวีพูล คงไม่ต้องพูดถึงเพราะแนวนี้หายไปเพียบ
ในขณะที่สื่อลูกทุ่งระส่ำระสายเพราะความนัวเนีย แชมป์เก่าอย่างรายการ “ชุมทางเสียงทอง” ที่ปิดตัวขณะที่รายการอื่นเกิดใหม่เพียบเมื่อกลางปี 58 ก็กลับสวนกระแสในไตรมาส 3 ของปี 59 ลงทุนหลายสิบล้านเปิดรายการใหม่ “ชุมทางดาวทอง” สร้างมาตรฐานการประกวด เพื่อเป็นหลักให้วงการลูกทุ่งที่กำลังสับสน ด้วยการยึดหลักความเป็นลูกทุ่งแท้สนุกสนานมาให้กำลังใจแฟน ๆ สายลูกทุ่ง
แล้วปีหน้า 2560 ล่ะ สิ่งที่จะยังคงอยู่เหมือนถูกคัดแล้วว่า เป็นของจริงที่ผู้บริโภคยอมรับเท่านั้นที่จะยังอยู่ สิ่งที่จะหายไปคือ ลูกทุ่งแนวแดนซ์เซ็กซี่! ลูกทุ่งกลายพันธุ์ จะจืดจางลง รายการทีวีคงเหลือแต่รายการที่แข็งแรงจากเรตติ้งผู้ชมจะค่อย ๆ กลับคืนมาแบบทวีคูณ น่าจะในไตรมาสที่ 2 ของปี 60 นี้ ค่ายเล็กจะเติบโตอย่างรวดเร็ว การจ้างงานแสดงก็จะกลับมาชุก แต่ต้องเน้นมาตรฐานการแสดงมากขึ้น ค่าตัวศิลปิน-นักร้อง และสนนราคาค่าจ้างงานคอนเสิร์ตหรืองานแสดงต่าง ๆ จะถูกปรับตัวตามความเป็นจริงมากขึ้น
เพราะความจริงแล้วผู้กำหนดบทบาทของวงการนี้ไม่ใช่ค่ายเพลง, นักร้องหรือผู้บริหารค่ายใดค่ายหนึ่ง และก็ไม่ใช่แค่ยอดวิวยูทูบ เฟซบุ๊ก หากแต่ผู้กำหนดบทบาทความจริงของวงการลูกทุ่งที่แท้จริงคือคนเพียง 2 กลุ่ม
1. “คนดู” ผู้นิยมชมชอบที่ติดตามชมจนมีเรตติ้ง
2. “คนจ้าง” ผู้จ้างงานโชว์ที่ทำให้วงการลูกทุ่งมีรายได้
จะขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เพราะมันเป็นสมดุล นักร้องต้องมีสื่อ! สื่อต้องมีเรตติ้ง จึงมีผลต่อการขายโฆษณาที่เป็นต้นทุนสื่อ นักร้อง และค่ายเพลงต้องได้เงินจากการขายโชว์ ม่ายงั้น…ไม่มีค่าผลิตผลงานและโฆษณา เปรียบประหนึ่ง “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ฉันใดก็ฉันนั้น.