สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนนวัตกรรมผ้าไหมไทยถิ่นอีสานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้โครงการ การเพิ่มมูลค่าผ้ามัดหมี่ทอมือของกลุ่มทอผ้าตำบลสายตะกู ชายแดนไทยกัมพูชาเพื่อพึ่งพาตนเอง โดยทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อยกระดับคุณภาพผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ ด้วยองค์ความรู้เสริมทักษะการออกแบบลวดลายผ้าให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและตลาดต่างประเทศ สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มีการสร้างเครือข่ายชุมชนในรูปวิสาหกิจทอผ้าไหมพื้นเมือง เสริมรายได้ให้กับแรงงานนอกภาคเกษตร สามารถใช้งานฝีมือสร้างรายได้พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม ไม่ต้องกลายเป็นแรงงานย้ายถิ่นหลังฤดูการเก็บเกี่ยว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสนับสนุนในภาคการผลิตต่างๆ โดยการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านในชุมชนต่างๆให้สามารถพัฒนางานฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน อย่างผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ
ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ขึ้นชื่อของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกจากเวทีแฟชั่น ทาง (วช.) จึงได้ให้การสนับสนุนทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ได้นำเสนอโครงการเพิ่มมูลค่าผ้ามัดหมี่ทอมือของกลุ่มทอผ้าตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการต่อยอดสร้างงานสร้างรายได้ ให้ชาวชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองสู่มาตรฐานสากล มีการออกแบบลวดลายผ้าที่ทันสมัยด้วยกระบวนการผลิตวิถีธรรมชาติ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการตลาดอย่างครบวงจร
รองศาสตราจารย์สมบัติ ประจญศานต์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการเพิ่มมูลค่าผ้ามัดหมี่ทอมือ เปิดเผยว่า ได้เล็งเห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าของชาวบ้านชายแดนไทยกัมพูชาด้านจังหวัดบุรีรัมย์ จากผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ จึงได้นำเสนอโครงการจัดการองค์ความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามแนวพระราชดำริ เพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในพื้นที่ตำบลสายตะกุ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งติดกับชายแดนไทยกัมพูชา ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพภาคการเกษตร และยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งเป็นแรงงานนอกภาคการเกษตร ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามภูมิปัญญาดั้งเดิม จึงต้องการที่ขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านตั้งแต่กระบวนการผลิต สู่การนำไปจำหน่ายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในโลกออนไลน์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ ออกแบบลวดลาย สีสัน ต่างๆ ให้ทันสมัย
รองศาตราจารย์สมบัติ กล่าวว่า เดิมทีกลุ่มทอผ้าในตำบลสายตะกู ส่วนใหญ่ผลิตผ้าซิ่นไหมหรือด้ายใยประดิษฐ์จากการย้อมด้วยสีเคมี การออกแบบลวดลายมัดหมี่ใช้ลายดั้งเดิมหรืออาจมีการประยุกต์ให้เกิดลายใหม่ แต่ผืนผ้ามัดหมี่โดยขนาดกว้าง 1เมตร ยาว 2 เมตร เพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าราคาต่อผืนประมาณ 2,500 – 3,000 บาท ทำให้นักท่องเที่ยวหรือลูกค้าผู้มาเยือนที่ต้องการสินค้าที่ระลึกที่ราคาต่อผืนไม่สูงนักไม่สามารถซื้อได้ หรือ ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าที่พร้อมใช้งานไม่ต้องนำไปตัดเย็บก็ไม่สามารถเลือกซื้อได้ โครงการจึงมีแนวคิดให้กลุ่มผลิตเป็นผ้าคลุมไหล่มัดหมี่ขนาดกว้าง 65 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร ย้อมสีธรรมชาติ ทำให้ราคาสินค้าต่อผืนต่ำกว่าเดิมและเป็นสินค้าแปรรูปใช้งานได้ทันที เหมาะเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ในเรื่องการออกแบบลวดลายมัดหมี่ลายเครื่องแขวนไทยดอกไม้สด และจัดอบรมเชิงวิชาการเรื่องการย้อมสีจากพืชพันธุ์ในท้องถิ่น ตามวิถีธรรมชาติเช่น ใบยางพารา,ใบแก้ว,ใบมะม่วงป่า,ใบสัก,เปลือกต้นหมากเบ็ง (ลูกหยี),แก่นก้านเหลืองฝักคูน และ เม็ดคำแสด โดยใช้กระบวนการย้อมตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ผลการอบรมได้เฉดสีทั้งหมด 11 สี ซึ่งผู้เข้าอบรมยังมีความสนใจต้องการทดลองใช้วัสดุธรรมชาติอื่นๆ อีกที่มี เช่น เปลือกต้นตะกู,ใบหูกวาง,ใบสบู่เลือด,เปลือกประดู่,เปลือกมะพร้าวสด,ขมิ้น เป็นต้น ทำให้ได้เฉดสีที่มีความสวยงามละมุนตา และเพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้มีการไปขอรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ( มผช.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้า Eco Friendly Product เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับการขยายผลต่อยอด รองศาตราจารย์สมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้มีกิจกรรมจัดประชุมถ่ายทอดความรู้ขยายผลไปยังกลุ่มทอผ้าตำบลสายตะกู หมู่ที่ 2, 8, 10, 12 และ 13 ทั้งการออกแบบลวดลายมัดหมี่และการย้อมสีธรรมชาติ โดยมีการติดตามการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการผลิตเป็นสินค้า และมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวิเคราะห์ต้นทุนและส่งเสริมการตลาดออนไลน์ กิจกรรมทดสอบตลาด กิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้วยการออกร้านจำหน่ายสินค้าในงานเทศกาล และสุดท้ายเป็นการจัดเวทีสรุปบทเรียนโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านกรวด สภาวัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายตะกู และคณะผู้บริหาร กำนันตำบลสายตะกู รวมถึงสมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลสายตะกู หมู่ที่ 2, 3, 8, 10, 12 และ 13 นอกจากนี้ องค์ความรู้จากโครงการนี้ได้จัดทำเป็น e-book คู่มือการเพิ่มมูลค่าผ้ามัดหมี่ทอมือ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จาก http://dspace.bru.ac.th/xmlui/handle/123456789/8431
ส่วนช่องทางการติดต่อสำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปที่แพลตฟอร์ม Shopee และเพจ SITAGAO-ผลิตภัณฑ์ตำบลสายตะกู หรือ ติดต่อ คุณลำไย นุชเวช ประธานกลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองลายประยุกต์ตำบลสายตะกู ที่อยู่ 19 หมู่ 3 ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ 31180 โทร. 061- 109 0926
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน