วันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ (สวทช.) นำทีมนักวิจัย (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตร โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (อว.) ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก (วทน.) เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development) โดยจัดออนไซต์เต็มรูปแบบที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2566 นี้
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) แถลงว่า ปีนี้ (สวทช.) จัดงาน NAC2023 ขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ต่อสาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของนักวิจัยไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศด้วย (วทน.) ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันต่อสถานการณ์โลกอยู่เสมอ โดยในปี 2566 นี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ดังนั้นปีนี้การประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) ถือเป็นการกลับมาจัดแบบออนไซต์เต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้สัมผัสขุมพลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ (สวทช.) และพันธมิตร ร่วมกันจัดแสดงให้ชมตลอด 4 วันเต็ม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ได้เข้าไปหาความรู้ อัปเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการนำผลงานวิจัยของ (สวทช.) ไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ
“ที่สำคัญในพิธีเปิดงาน NAC2023 วันที่ 28 มีนาคม 2566 (สวทช.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาเป็นต้นไป”
ศาสตราจารย์ดร.ชูกิจ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามด้วยธีมการจัดงานปีนี้ คือ (สวทช.) ขุมพลังหลัก (วทน.) เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน ดังนั้นในปีนี้ (สวทช.) และพันธมิตร มีตัวอย่างความสำเร็จจากการขับเคลื่อน BCG ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในเชิงงานวิจัย อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการเพาะเลี้ยงและการผลิตสัตว์น้ำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่นำแนวคิด BCG Economy Model ไปปรับใช้ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจาก “มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี”
“สำหรับตัวอย่างผลงานเด่นที่ (สวทช.) ขับเคลื่อนนโยบาย BCG ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และตอบโจทย์ BCG สาขาต่างๆ และนำผลงานวิจัยเด่น มาโชว์วันนี้ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร เช่น นวัตกรรมสเปรย์เติมความ “สด” ให้พืช ตอบโจทย์ธุรกิจส่งออกพืชเมืองหนาว ด้านสุขภาพและการแพทย์ เช่น เทคโนโลยีชุด Exosuit ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุ ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคม สีเขียว และ ด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น Sontana สนทนา (AI Chatbot) เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ”
ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากการนำงานวิจัยไปขับเคลื่อนโมเดล BCG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว เรื่องของการขับเคลื่อนงานวิจัย NSTDA Core Business ตรงนี้ ก็จะเป็น 1 ในไฮไลต์ของงาน NAC2023 ด้วย โดย (สวทช.) เปิดกลยุทธ์ NSTDA Core Business นำพลังวิจัย รับใช้สังคมและได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมี 4 เรื่องหลัก คือ 1.Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง
2.Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ
3.FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service และ
4.Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) (สวทช.) กล่าวว่า การจัดงาน NAC2023 ในปีนี้จัดออนไซต์เต็มรูปแบบหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเต็มอิ่มกับเนื้อหาสาระที่ (สวทช.) เตรียมมานำเสนอ โดยเฉพาะหัวข้อการสัมมนาที่มีมากถึง 40 หัวข้อ ตัวอย่าง เช่น พลิกโฉมการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCGการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยาไทยหลังโควิด
นอกจากนี้ที่สำคัญคือนิทรรศการกว่า 70 ผลงาน ประกอบด้วยโซน 6 โซน ได้แก่
1.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
2.NSTDA Core business
3.BCG Economy Model แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
4.(วทน.) ยกระดับคุณภาพชีวิต
5.ระบบบริการโดย (สวทช.) และ
6.เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยในนิทรรศการแต่ละเรื่องจะมีนักวิจัยเจ้าของผลงานมานำเสนองานวิจัยเพื่อตอบทุกข้อคำถามของผู้เข้าร่วมงานที่สนใจช้อปปิ้งงานวิจัย หรือสนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ชมฟรีตลอดงานทั้ง 4 วัน
ดร.วรรณพฯ กล่าวว่า อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Open House หรือการเปิดบ้านให้ผู้ประกอบการ และ นักลงทุนได้เยี่ยมชมจากการนําเสนอเทคโนโลยีจากความชำนาญของห้องปฏิบัติการชั้นนำ โดย (สวทช.) และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุน ที่มีความสนใจ ได้เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ (สวทช.) ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ที่จะเป็นตัวช่วยให้การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเพิ่มศักยภาพและกำไรให้กับธุรกิจ
“หากท่านคือ นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่มีความสนใจพัฒนาและลงทุนธุรกิจเทคโนโลยี ที่กำลังมองหาโอกาส แรงบันดาลใจ พันธมิตร และโซลูชั่นสำหรับธุรกิจของท่านขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม Open house ซึ่งกิจกรรมนี้จะจัด เพียง 3 วันคือ 29-31 มีนาคม 2566 เท่านั้น ดังนั้นสำรวจตัวเองว่าท่านอยากจะพลิกโฉมธุรกิจของท่านไปในทางไหน กิจกรรมนี้จะเป็นตัวช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ดีขึ้นโดยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเฉพาะมาให้ข้อมูลแบบจัดเต็มนอกจากนี้ สายชอปปิงห้ามพลาด NAC Market 2023 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย สินค้าชุมชน จากเครือข่าย (สวทช.) รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ในราคาพิเศษสำหรับผู้มาร่วมงานนี้เท่านั้น ซึ่งตลาดนัดสินค้านวัตกรรมจัดเพียง 3 วัน คือ 29-31 มีนาคม 2566 เช่นกัน
ดร.วรรณพฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกิจกรรม ‘R&D Pitching’ จะจัดใน 2 วันคือ วันที่ 29-30 มีนาคม 2566 ซึ่งจะได้พบกับการนำเสนองานวิจัยและแอดวานซ์เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม (Advanced Technology Platform) ที่พร้อมร่วมมือต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมกับภาคอุตสาหกรรมใน 4 กลุ่ม ครอบคลุม Food Technology,Advanced Biotechnology,Digital 4.0 Plus และ Cosmetic Technology อาทิ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพสร้าง value added ให้กับ waste ที่ได้จากกระบวนการผลิตต่างๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การผลิตโรงงานเสมือน (Cell Factory) ที่ใช้จุลินทรีย์ในการผลิตสารชีวภาพมูลค่าสูง เพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง พลังงาน เป็นต้น
การจัดงานครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ (business matching) ในหัวข้อที่สนใจจะพัฒนาความร่วมมือ ดังนั้นนอกจากได้เติมความรู้แล้วยังได้สัมผัสงานวิจัยของจริง พร้อมกับแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิจัยเจ้าของผลงานอย่างใกล้ชิดด้วย
28-31 มีนาคม 2566 นี้
NAC2023 ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ดูไฮไลต์ที่น่าสนใจและลงทะเบียนร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือโทรศัพท์ 02564 8000
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน