(28 ก.พ. 2566) ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ (อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา ) ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในสภาผู้แทนราษฎร ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายบริษัท อาร์.อี.คิว.วอเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด(ชื่อเดิม บริษัท รีไควร์ คอนสตรัคชั่น จำกัด)แถลงข่าวว่า บริษัทฯได้ยื่นเรื่องขอต่ออายุสัมปทานประกอบกิจการประปา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 และบริษัทได้ทำหนังสือสอบถามไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 แต่จนบัดนี้ จะครบหนึ่งปีแล้ว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่มีการลงนามในสัญญาต่อสัมปทาน ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และระยะเวลาการพิจารณาเรื่อง ของ รมต.ทส. ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาการพิจารณาเรื่อง ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานประกอบกิจการประปา เพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชน พ.ศ. 2554 ซึ่งการขอต่ออายุสัมปทาน เป็นไปตามข้อ 27 กำหนดระยะเวลา ตามข้อ 9 กำหนดให้จังหวัดพิจารณา ภายใน 15 วัน จากนั้น กรมทรัพยากรน้ำ พิจารณาคำขอภายใน 15 วัน และเสนอรมต.ทส.พิจารณาภายใน 60 วัน
ดร.เกษมฯชี้แจงว่า “ เดิม บริษัทฯได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปาในเขตจังหวัดภูเก็ตโดยเริ่มผลิตและส่งมอบน้ำประปาให้แก่กับการประปาส่วนภูมิภาค ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 โดยตั้งโรงงานผลิตน้ำประปา ที่อำเภอกะทู้และเข้งหงวน เมืองภูเก็ต ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2548 ได้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในจังหวัดภูเก็ตอย่างรุนแรง กระทรวงมหาดไทยโดยคณะทำงานพิจารณาแผนสำรองในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 348/2546 ได้ดำเนินการวางแผนแก้ไขตามที่ได้รับแต่งตั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2548 ปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตเป็นน้ำประปาในจังหวัดภูเก็ตรุนแรงมากเนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้เมื่อหมดฤดูฝนมีน้ำในอ่างเก็บน้ำบางวาด(อ่างเก็บน้ำแห่งเดียวในจังหวัดภูเก็ต ณ ขณะนั้น)เพียงร้อยละ 48 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2548 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)และคณะผู้บริหารกปภ.ได้เดินทางตรวจพื้นที่และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมอบให้กปภ.เจรจากับบริษัท ฯ คู่สัญญาที่ผลิตน้ำประปาขายให้แก่กปภ.อยู่แล้ว ในขณะนั้น เพื่อทำโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล หรือ RO และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ กปภ.พิจารณาอนุมัติ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2548 กปภ.และบริษัทฯลงนามทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิมกัน โดยมีกำหนดระยะเวลาทำโครงการที่เร่งด่วนมากคือโครงการฯต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 กปภ.ยื่นเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต และวันที่ 27 มีนาคม 2549 กปภ.ประสานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ช่วยแก้ไขเรื่องการขออนุญาตต่างๆ เนื่องจากพื้นที่การจัดทำโครงการฯ และกระบวนการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลติดขัดข้อกฎหมายและระเบียบทางราชการหลายประการ โดย ผวจ.ภูเก็ต ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เชิญส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการขออนุญาต
ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2549 อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตเชิญส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องประชุม ได้แก่ สำนักงานเทศบาลตำบลกะรน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานขนส่งทางน้ำ ที่ 5 จังหวัดภูเก็ต(เจ้าท่าภูเก็ต) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าให้เสนอเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการแก้ไข และ ผวจ.ภูเก็ต ได้แจ้งเรื่องต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบยกเว้นข้อกฎหมายที่ติดขัด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 โดยในระหว่างนั้นได้ประสานกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องขอให้โครงการฯ ดำเนินการก่อสร้างไปก่อนได้และส่วนใดขออนุญาตได้ก็ให้ดำเนินการขนานกันไปเพื่อเร่งรัดโครงการให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะกระทบกับการท่องเที่ยวในปีถัดๆไป ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 บริษัทฯยื่นเรื่องขอวางท่อลงไปในทะเลต่อสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 จังหวัดภูเก็ต(เจ้าท่าภูเก็ต) และเรื่องได้ถูกนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต โดยคณะกรรมการฯพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549 โดยมีเงื่อนไขคือ
1)จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2)จัดทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 3) โครงการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับให้ครบถ้วน ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2549 บริษัทฯได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ผลคือ ไม่มีผู้คัดค้าน
โครงการฯ และได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการเสร็จในเดือนตุลาคม 2549 วันที่ 23 สิงหาคม 2549 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต แจ้งผลกรณี กปภ.ขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล(ระบบ RO) โดยแจ้งว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ได้ประชุมกันในครั้งที่ 1/2549 และ วันที่ 4 สิงหาคม 2549 มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่ดินฯแปลงที่ 1ที่จะใช้ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำประปาได้ แต่แปลงที่ 2 ยังไม่เห็นชอบให้รอผลการแก้ไขข้อกฎหมายที่ติดขัดก่อน เมื่อแก้ไขได้แล้วให้รีบแจ้งอีกครั้งเพื่อจะได้ดำเนินการเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง และการก่อสร้างโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลตามสัญญาดำเนินการจนแล้วเสร็จพร้อมจ่ายน้ำให้แก่กปภ.ในวันที่ 29 ธันวาคม 2549 โดย กปภ.ยอมขยายระยะเวลา ส่วนการแก้ไขการขออนุญาตต่างๆก็ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด “
บริษัทฯได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปาในเขตจังหวัดภูเก็ต และขายน้ำประปาให้ กปภ.ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่เคยมีปัญหาใดๆ จึงมีคำถามจากบริษัทฯและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตผู้ใช้น้ำว่า “เหตุใด นายวราวุธ ศิลปอาชา รมต.ทส.ยังไม่มีการลงนามในสัญญาต่อสัมปทาน
ซึ่งจะเกิดความเสียหายกับผู้ใช้น้ำและประชาชนนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และบริษัทฯ จะได้ทำหนังสือสอบถามไปอีกครั้งถึงความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว”