นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเปิดตัวโครงการเน็ตประชารัฐ หรือ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกล่าวว่า งานนี้นอกจากจะเปิดตัวโครงการแล้ว ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อป้องกัน และต่อต้านการทุจริตในการดำเนินโครงการฯ ระหว่าง กระทรวงดีอี, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการการใช้ทรัพย์สินของรัฐ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระหว่าง กระทรวงดีอี, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อยืนยันว่า ทีโอทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำโครงการอย่างโปร่งใส ภายใต้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps รวมถึงจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน ซึ่ง ทีโอที ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าครึ่งปีแรกจะติดตั้ง 4,000 หมู่บ้าน และอาจจะช้าในช่วงแรก เพราะมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ แต่ในครึ่งปีหลังมั่นใจว่า ทีโอที จะทำทันและโปร่งใสอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ พื้นที่ดำเนินการ กระทรวงดีอี และสำนักงาน กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน โดยภาพรวมประเทศไทยมีพื้นที่ใช้บริการ และมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30,635 หมู่บ้าน พื้นที่ที่ยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 40,432 หมู่บ้าน ซึ่งในจำนวนนี้ ทีโอที จะเป็นผู้ดำเนินการ 24,700 หมู่บ้าน และกสทช. ดำเนินการ 15,732 หมู่บ้าน บวกกับพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ยากต่อการเข้าถึงอีกจำนวน 3,920 หมู่บ้าน