เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องประชุม ชั้น 7 อาคารกิตติวัฒนา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , อ.พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน อายุรแพทย์ผู้รักษา , ผศ.นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ศัลยแพทย์หัวหน้าทีมผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ และพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วย ร่วมแถลงข่าวการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสำเร็จรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ผู้ป่วยอายุ 50 ปี ได้ลงทะเบียนเข้าคิวรอรับการบริจาคหัวใจกับสภากาชาดไทย หลังลงทะเบียนรอรับหัวใจเป็นเวลานาน 2 เดือน และได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจดวงใหม่ ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์สำเร็จลุล่วงด้วยดี ใช้ระยะเวลาการผ่าตัดทั้งหมดเพียง 4 ชั่วโมง หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยช่วงก่อนหน้านี้มีศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ได้รับการรับรองจากสภากาชาดไทยเพียง 5 โรงพยาบาลเท่านั้น คือ จุฬาลงกรณ์, ศิริราช, รามา, บำรุงราษฎร์ และ ราชวิถี ซึ่งทาง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เร่งพัฒนาบุคลากร จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย จนในที่สุดสามารถผ่านการประเมินจากสภากาชาดไทย และได้รับรองเป็นศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งถือเป็นศูนย์ที่ 6 ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2565
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายสำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลลำดับที่ 6 ของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมีทีมสหวิชาชีพที่ต้องทำงานร่วมกันคือ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการบริการผู้ป่วยโรคหัวใจ คณะกรรมการปลูกถ่ายหัวใจ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพบริการผู้ป่วยศัลยกรรมโรคหัวใจและทรวงอก โดยทีมพัฒนาคุณภาพการบริการผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ประกอบด้วย ศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์ งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก เริ่มดำเนินการเตรียมรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายด้วยวิธีการปลูกถ่ายหัวใจ (heart transplantation) เนื่องจากเนื่องจากไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยา
การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในครั้งนี้ มีทีมพยาบาลประสานงาน พยาบาลผู้จัดการรายกรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ทีมพยาบาลห้องผ่าตัด ทีมพยาบาลประจำหอผู้ป่วยต่างๆ และทีมนักปฏิบัติการเครื่องหัวใจและปอดเทียม (Perfusionist) ไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและการปลูกถ่าย มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ มีการนำผู้ป่วยเข้ากระบวนการประเมิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการและตรวจหัตถการเพิ่มเติมเพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยเป็นผู้รอรับบริจาคหัวใจกับทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ลงทะเบียนในเดือนธันวาคม 2565 เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 50 ปี ผลการวินิจฉัยโรค คือ มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย (End stage heart failure) เข้ารับการตรวจรักษาและติดตามอาการในคลินิกโรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure clinic) โดย อ.พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน และ ผศ.นพ.อดิศัย บัวคำศรี มาโดยตลอด
รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นความสำเร็จน่าภาคภูมิใจที่แพทย์ธรรมศาสตร์สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยเป็นรายแรกของทั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นผลงานที่น่าชื่นชมแก่ทีมแพทย์และทีมสหวิชาชีพที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยในครั้งนี้ ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญในความสำเร็จครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยทางคณะแพทย์ได้สนับสนุนให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ และอายุรแพทย์โรคหัวใจได้ศึกษาต่อทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและการดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเป็นการเฉพาะมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อมาทำงานร่วมกับบุคลากรสหวิชาชีพจึงเกิดความสำเร็จในครั้งนี้ขึ้น ทางคณะมีความยินดีและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ทั้งในด้านวิชาการเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่แพทย์ของเราเพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
อ.พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน อายุรแพทย์ผู้รักษา กล่าวว่า การจากตรวจรักษาผู้ป่วยรายนี้มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย และได้รับการบริจาคหัวใจจากผู้บริจาคในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จากทีมศัลยแพทย์ทรวงอก นำทีมโดย ผศ.นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ร่วมกับทีมอายุแพทย์โรคหัวใจ ซึ่งมีกระบวนการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด และดูแลรักษาต่อเนื่องภายหลังการผ่าตัด มีทีมพยาบาลประจำหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ ทีมพยาบาลประจำหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก ทีมพยาบาลประสานงานปลูกถ่ายหัวใจ และพยาบาลผู้จัดการรายกรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ในการติดตามการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด
ผศ.นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ศัลยแพทย์หัวหน้าทีมผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ กล่าวว่า ผลการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเป็นที่น่าพอใจของทีมแพทย์ ตอนนี้ผู้ป่วยปลอดภัยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อยู่ในระหว่างการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์และพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยมี พว.ดุษาร์กร เปียทิพย์ หัวหน้างานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก เป็นหัวหน้าทีมในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งการเตรียมรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ทีมบุคลากร และแนวทางปฏิบัติในการพยาบาลทุกขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่เตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดที่หอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (CCU) หลังผ่าตัดในระยะแรกที่หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก (ICU CVT) และในระยะฟื้นฟูสภาพเตรียมจำหน่ายที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมพิเศษ 1 ทั้งนี้ในระยะหลังผ่าตัดได้มีการควบคุมป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มงวด เช่น จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องแยก อุปกรณ์ เครื่องมือทุกชนิดจะผ่านการฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามมาตรฐานก่อนนำไปใช้ มีการจำกัดการเข้าห้องผู้ป่วยเพียงบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลเท่านั้น เป็นต้น ในส่วนของทีมบุคลากรได้เตรียมความพร้อมในการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในโรงพยาบาล และให้ความรู้เฉพาะในหน่วยงานที่รับผู้ป่วยโดยตรง ส่งทีมพยาบาลศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบ และจัดทำแนวทางปฏิบัติ หรือ TU heart transplantation protocol ตั้งแต่เตรียมรับผู้ป่วย การประสานงาน การดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด การเตรียมผู้ป่วยจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Discharge planning) รวมถึงการเตรียมผู้ป่วยเพื่อกลับไปใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านกับครอบครัว.
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี