ชาพีช แต่เดิมนั้นพระเศวตสุรคชาธารฯ เป็นลูกช้างเผือกพลัดฝูงอยู่ที่ใต้ถุนบ้านของนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ จังหวัดยะลา ซึ่งคาดว่าพลัดหลงจากโขลงช้างป่าที่เดินมาใกล้หมู่บ้านตอนกลางคืน โดยบางคนกล่าวว่าแม่ช้างอาจรู้ว่าลูกช้างเผือกตัวนี้เป็นช้างสำคัญจึงนำมาส่งที่หมู่บ้านเพื่ออยู่ใต้ร่มพระบารมีต่อไป
ด้วยเหตุนี้คุณพระเศวตฯ จึงเป็นลูกช้างอาศัยอยู่ที่บ้านกำนันในจังหวัดยะลา จนกระทั่งวันหนึ่งมีสุนัขตัวหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “นางเบี้ยว” เพราะเป็นสุนัขที่เป็นโรคชักอย่างหนักจนชักกระตุกไปทั้งตัว แทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่แม่เบี้ยวก็ยังกระเสือกกระสนคลานไปยังที่คุณพระเศวตฯอยู่ เมื่อแม่เบี้ยวเลียน้ำอาบของคุณพระเศวตฯเข้าไปก็เกิดเหตุอัศจรรย์คืออาการชักทั้งหมดหายไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นสุนัขปกติมีเพียงอาการปากเบี้ยวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ ทำให้แม่เบี้ยวติดตามคุณพระเศวตฯ มาเรื่อยไม่ยอมห่างด้วยความกตัญญูรู้คุณ
จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อคุณพระเศวตฯ ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นช้างต้นขึ้นระวาง ปรากฏว่านางเบี้ยวคิดถึงคุณพระเศวตฯ มาก ว่ากันว่าร้องเสียงดังทั้งกลางวันกลางคืน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่อง จึงทรงมีพระราชกระแสว่าให้นำแม่เบี้ยวไปด้วย ดังความที่ว่า
“ช้างทั้งตัวยังเอาไปได้ ทำไมหมาอีกตัวเดียวจะเอาไปไม่ได้ ให้เอาหมาไปด้วยเถิด สงสารมัน อย่าไปพรากมันเลย”
จากนั้นมาทำให้แม่เบี้ยวได้อาศัยอยู่กับคุณพระเศวตฯ ในสวนจิตรลดาด้วย โดยแม่เบี้ยวได้มีลูกหลานมากมาย กลายเป็นเหล่าฝูงสุนัขเฝ้าโรงช้าง ซึ่งคุณพระเศวตฯ ก็ได้เอ็นดูเลี้ยงลูกหลานของแม่เบี้ยวเรื่อยมาหลายต่อหลายรุ่น แม้กระทั่งเมื่อแม่เบี้ยวจากไปตามอายุขัยแล้ว
เหล่าลูกหลานของแม่เบี้ยวนั้นมีความกตัญญูและจงรักภักดีต่อคุณพระเศวตฯ เป็นอันมาก ว่ากันว่าถ้าคุณพระเศวตฯ ได้ออกมาเดินที่สวนจิตรดลา จะมีเหล่าลูกหลานแม่เบี้ยววิ่งตามไปเป็นฝูง มีใจความหนึ่งของงานเขียนของ “ช้างในชีวิตของผม” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวว่าท่านเคยรับเสด็จพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธแห่งกรุงอังกฤษ เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านพระราชดำเนินเยี่ยมชมพระตำหนักจิตรลดา โดยมีคุณพระเศวตฯ ยืนคอยรับเสด็จด้วย แต่เหล่าสุนัขที่ตามคุณพระเศวตฯ นั้นวิ่งเล่นกันเต็มสนาม ท่านเห็นว่าไม่น่าดูจึงแอบกระซิบคุณพระเศวตฯ ว่าสุนัขกระจัดกระจายเต็มที ช่างเหลือเชื่อที่พอได้ยินดังนั้น คุณพระเศวตฯ ทำเสียงร้องเหมือนแตรแล้วเห่าสุนัขทุกตัวบริเวณนั้นก็วิ่งมารวมอยู่ใกล้ๆ คุณพระเศวตฯ อย่างเรียบร้อยทันที
คุณพระเศวตฯ เองก็เฉลียวฉลาดและจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างน่ามหัศจรร์เช่นกัน ว่ากันว่าเมื่อคุณพระเศวตฯ เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องยกงวงเป็นการถวายบังคมทุกครั้งโดยไม่ต้องมีคนบอก และคอยถวายบังคมอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าพระองค์ท่านทรงตรัสว่า “ไม่ต้องถวายบังคมบ่อยถึงเพียงนั้น” คุณพระเศวตฯ ก็จะหยุดถวายบังคม ราวกับว่าฟังคำสั่งรู้เรื่อง