สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสนับสนุนผลงานสู่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยพร้อมก้าวสู่เวทีในระดับโลก การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ซึ่งกิจกรรมภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “Sustainable Development Goals (SDGs) : แผนพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
โดย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม (วช.) และ นายเชิญพร เต็งอำนวย รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม (วช.) กล่าวว่า SDGs ย่อมาจาก Sustainable Development Goals–SDGs หรือแปลเป็นไทยก็คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” การพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สำหรับ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยองค์การสหประชาชาติแบ่งทั้ง 17 ข้อ ออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ทั้ง 17 ข้อ 5 มิติ ต่างเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนในโลกควรเรียนรู้
ให้ความสนใจ และร่วมกันพัฒนา โดยครั้งนี้จะมาเจาะลึกกันที่ เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการเรียนรู้ที่ยั่งยืนรวมถึง BCG Economy Model เป็นต้น
นายเชิญพร เต็งอำนวย รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านที่สำคัญที่สุดโดยการขจัดความยากจนลดความเลื่อมล้ำการสร้างรายได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ สู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ในเรื่องของการปลูกข้าวและการปลูกกัญชงเพื่อลดและทดแทนเส้นใยของฝ้ายนำไปสู่การขยายอุตสาหกรรมระดับโลกโดยอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ ในการวิจัยมาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน