พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอฝากเตือนมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนให้ทำงานเสริม หรือทำภารกิจออนไลน์ ดังนี้
ในช่วงที่ผ่านมาปรากฏเป็นเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำงาน หรือทำภารกิจออนไลน์ต่างๆ เพื่อหารายได้เสริมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงจ้างให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มิจฉาชีพออกอุบายประกาศ เชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram,Tiktok เป็นต้น หรือผ่านทางการส่งความสั้น (SMS) ให้เหยื่อกดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ เช่น ประกาศรับสมัครด่วนงานดูคลิป YouTube จำนวน 10 คลิป 400 บาท 20 คลิป 800 บาท แต่ต้องมีค่าเงินประกัน 100 บาท หรือให้กดไลก์ กดแชร์เพจ เพิ่มระดับเลเวลเพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม แต่ต้องโอนเงินเข้าไปในระบบก่อน หรือเชิญชวนให้ทำภารกิจกดรับออเดอร์สินค้า โดยเริ่มจากสินค้าหลักร้อยและเพิ่มสูงขึ้นไปตามระดับภารกิจ แต่จะบอกว่าเราทำผิดขั้นตอน ให้โอนเงินไปเพิ่ม เป็นต้น
การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว จะเห็นได้ว่าต้องมีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ หรือเติมเงินเข้าไปในระบบที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาเสียก่อนเสมอ โดยในช่วงแรกๆ เราจะได้เงินกลับคืนมาจริง แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะออกอุบายต่างๆ เพื่อให้เหยื่อเติม หรือโอนเงินเพิ่ม เช่น อ้างว่ายอดเงินในระบบไม่เพียงพอ อ้างว่าเป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น เมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป
ยกตัวอย่างคดีอุทาหรณ์ เช่น ในกรณีนักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี ถูกหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหาค่าคอมมิชชั่นจากการทำงานกดรับออเดอร์สินค้า เป็นเหตุให้เครียดและทำอัตวินิบาตกรรม กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับรวมกว่า 9 ราย ส่ง พงส.ดำเนินคดีตามกฎหมายในเวลาต่อมา
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้ไม่มีจุดยืนในสังคม เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียหายที่ยังเป็นเด็ก เยาวชน ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจจะส่งผลกระทบโดยไม่คาดคิด
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) วรรคท้าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยดูจากพฤติการณ์แต่ละกรณีมาประกอบ ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ขอฝากกรณีที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นอุทาหรณ์เตือนภัยประชาชน ซึ่งการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรมนั้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนสูงเป็นอันดับแรกๆ ของการหลอกลวงทั้งหมด มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ ไม่เลือกอายุ หรือเพศของเหยื่อ ทุกคนทุกอาชีพสามารถตกเป็นเหยื่อได้หมด เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องมีสติอยู่เสมอ
ทั้งนี้ ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Shopee, Lazada เป็นต้น
2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
3.หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 เพื่อปรึกษาว่างานดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
4.หากสมัครทำงานไปแล้ว พบว่ามีการติดต่อให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
5.ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้ง
6.พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันสอดส่อง ดูแล สังเกตพฤติกรรมบุตรหลานในความปกครองของท่านว่ามีการใช้จ่ายผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบเงินในบัญชีของท่านและบุตรหลานว่ามีความเคลื่อนไหวผิดปกติหรือไม่
7.พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้บุตรหลาน หรือผู้อื่นใด ล่วงรู้รหัสการทำธุรกรรมการเงินโดยเด็ดขาด
8.พ่อแม่ผู้ปกครองหมั่นพูดคุย แนะนำ และให้คำปรึกษา บุตรหลานให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน