ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยพวนทุกแห่งได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า “ประเพณีกำฟ้า” มีความหมายดังนี้
คำว่า "กำ" ในภาษาพวน หมายถึง การนับถือสักการะ
คำว่า "ฟ้า" หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน หรือผู้ที่อยู่สูงเทียมฟ้า คือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจมองเห็นได้
คำว่า "กำฟ้า" หมายถึงการนับถือฟ้า สักการบูชาฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวนโดยเชื่อกันว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากเทวดาผู้รักษาฝากฟ้า แล้วเทวดาจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า เพราะชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวว่าฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือฟ้าจะผ่าคนตาย เพื่อผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ ยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตของคน สัตว์และพืชต่างๆ จึงเกิดเป็นประเพณีกำฟ้าขึ้น แต่เดิมวันกำฟ้าถือกำหนดเอาวันที่มีผู้ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 เป็นวันเริ่มประเพณีกำฟ้า เพราะถือกันว่าเป็นวันที่ฟ้าเปิดประตูน้ำ แต่การยึดถือในวันดังกล่าว มักมีข้อผิดพลาดเกิดการโต้แย้ง กัน เนื่องจากบางคนไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ต่อมาได้กำหนดเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันเตรียมงาน วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า สัตว์เลี้ยงที่เคยใช้งานก็จะให้หยุดการทำงาน ในวันนี้ถ้าใครทำงานชาวไทยพวนเชื่อว่าจะเกิดพิบัติต่างๆ ฟ้าจะลงโทษโดยถูกฟ้าผ่า ห้ามไม่ให้พูดคำหยาบคาย ในช่วงเวลากำฟ้าผู้สูงอายุในครอบครัวจะคอยฟังฟ้าร้อง เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน โดยมีคำทำนาย ดังนี้
เสียงฟ้าร้อง หมายถึง การเปิดประตูน้ำ
ฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะตกดี ทำนาจะได้ข้าวดี
ฟ้าร้องทางทิศใต้ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาวบ้านจะอดเกลือ
ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย เกิดความแห้งแล้ง ทำนาไม่ค่อยได้ผล นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะเดือดร้อนเกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟันกัน
ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขไม่มีรบร่าฆ่าฟันกัน ไม่มีโจรผู้ร้าย
ในคืนที่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ก่อนที่จะเข้านอน เจ้าของบ้านจะร้องบอกแก่สัตว์เลี้ยงของตนให้รู้ตัวและสงบเสงี่ยมว่า "งัว (วัว) ควายเอ้ย กำฟ้าเน้ออย่าได้อึกทึกครึกโครม แต่บัดนี้ไปจนฮุ่ง (รุ่ง-สว่าง) ตะเง็น (ตะวัน- พระอาทิตย์) จึงม้น (พ้น) เน้อ"
ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน ตามประเพณีนั้นในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 สมาชิกในครัวเรือนจะช่วยกันทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวหลาม (ข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ เรียกว่า ข้าวหลามทิพย์) ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นยัดไส้หวาน ไส้เค็ม ชุบไข่ แล้วปิ้งไฟจนแห้งเกรียม) เพื่อนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้า จะมีการสร้างปะรำสำหรับทำพิธีที่วัด ในตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เย็น ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะประกอบพิธีบายศรีอัญเชิญเทพยดา (ผีฟ้า) มารับเครื่องสังเวย และมีการรำขอพร จากนั้นจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟ กล่าวคำ ขอให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน มาปกปักรักษา ในครอบครัวให้อยู่ดีกินดี มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์
รุ่งขึ้นวันกำฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า ตอนบ่ายถึงกลางคืนจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เตะหม่าเบี้ย ต่อไก่ คร่อมเส้า ไม้อื่อ ช่วงชัย มอญซ่อนผ้า บางครั้งมีการละเล่นเซิ้ง ลำพวน นางด้งนางกวัก นางสาก นางช้าง และลิงลม ซึ่งถือเป็นกรทรงเจ้าเข้าผีด้วย หลังจากวันกำฟ้า 1 สัปดาห์ จะไปทำบุญที่วัดอีกครั้ง หลังจากนั้นจะนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้นไปทิ้งตามแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปตามสายน้ำ เรียกว่า "การเสียแล้ง" เป็นการบูชารำลึก เทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยาดา (ผีฟ้า) ว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว
ปัจจุบันประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน ยังยึดถือปฏิบัติการจัดงานกันหลายท้องถิ่นโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ใน
จังหวัดลพบุรี ที่บ้านกล้วย บ้านทราย บ้านหินปัก เขตอำเภอบ้านหมี่ บ้านถนนใหญ่ ตำบลชอนสารเดช
บ้านน้ำจั้น ตำบลเขาสามยอด
เขตอำเภอเมือง ฯลฯ
จังหวัดสิงห์บุรีที่บ้านบางน้ำเชี่ยว หมู่บ้านโภคาภิวัฒน์ เขตอำเภอพรหมบุรี
จังหวัดสระบุรีที่ตำบลไผ่หลิ่ว อำเภอดอนพุด
ในปัจจุบันสังคมและวัฒธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติและก็ยังมีชาวบ้านรุ่นหลังอีกจำนวนหนึ่งที่พยายามอนุรักษ์วัฒธรรมดั้งเดิมไว้ จึงนับได้ว่าเป็นการฟื้นฟูประเพณีพื้นบ้านให้สืบต่อไป
ศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ รายงานข่าวว่า
เมื่อวันอังคารที่ 24 มกราคม 2566
นายปิติ เลิศวิริยะประภา
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมสอยดาว งานสืบสารวัฒนธรรมประเพณีไทย-พวน(กำฟ้า)
ณ บ้านน้ำจั้น ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี
นายปิติ เลิศวิริยะประภา
เปิดเผยเพิ่มเติมว่า
ความเป็นมา
“กำฟ้า” เป็นประเพณีของชาวไทยพวนในจังหวัดต่าง ที่มีชาวพวนอาศัยอยู่ได้ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
“กำ” ในภาษาไทยพวน หมายถึง การนับถือและสักการะบูชา ดังนั้น กำฟ้า จึงหมายถึงประเพณีนับถือ สักการะบูชาฟ้า เนื่องจากชาวพวนเป็นกลุ่มชนที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ในสมัยดั้งเดิมการทำนาต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ชาวนาในสมัยนั้นจึงมีการเกรงกลัวฟ้ามาก ไม่กล้าที่จะทำอะไรให้ฟ้าพิโรธ ถ้าฟ้าพิโรธย่อมหมายถึง ความแห้งแล้ง อดยาก หรือฟ้าอาจผ่าคนตาย ประชาชนกลัวจะได้รับความทุกข์ยากอันเป็นภัยจากฟ้า จึงมีการเซ่นสรวง สักการะบูชาผีฟ้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเอาใจ มิให้ฟ้าพิโรธ หรืออีกนัยหนึ่ง ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมนั้น รู้สึกสำนึกในบุญคุณของผีฟ้าที่ได้ให้น้ำฝน อันหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ มีชีวิตของคน สัตว์ และพืชพรรณต่างๆ จึงได้เกิดประเพณีกำฟ้าขึ้น เพื่อเป็นการประจบผีฟ้าไม่ให้พิโรธ และเป็นการแสดงความขอบคุณต่อเทพยาดาแห่งท้องฟ้าหรือผีฟ้า ดังกล่าวมาแล้ว
กำหนดงาน
ประเพณีกำฟ้า ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวบ้านพวนทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ละท้องที่จะกำหนด วัน เวลา คาดเคลื่อนกันไปบ้างในห้วงเวลาของเดือนอ้าย ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ขึ้น 13 ค่ำ และเดือน3 ขึ้น 3 ค่ำ ทั้งนี้เป็นการตกลงของชาวพวนในแต่ละท้องที่ เดิมทีเดียวในหมู่คนพวนโดยทั่วไปจะถือเอาวันที่มีผู้ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ให้เป็นวันเริ่มกำฟ้า แต่การยึดถือตามแนวนี้มักเกิดปัญหาในเรื่องข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอว่า คนนั้นได้ยินคนนี้ไม่ได้ยิน เป็นที่รำคาญใจ การที่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 นี้ ถือกันว่าฟ้าเปิดประตูน้ำ โดยมากกวานบ้าน (หัวหน้าหมู่บ้าน) จะถือเอาการฟังเสียงฟ้าของคนหูตึงในหมู่บ้านเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นเสียงฟ้าร้องที่ดังจริงๆ จนผู้คนสามารถได้ยินกันอย่างทั่วถึง
กิจกรรม / พิธี
กิจกรรมที่ชาวพวนถือปฏิบัติกันในระหว่างกำฟ้ามี 3ประการ คือ
ประการที่ 1 งดเว้นจากการงานที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำทั้งหมด
ประการที่ 2 ทำบุญใส่บาตร
ประการที่ 3 ประกอบพิธี ตั้งบายศรีบูชาฟ้าและประกาศขอพรจากเทพยาดาที่รักษาท้องฟ้า หรือผีฟ้า
ตามประเพณีนั้น “วันสุกดิบ” อันเป็นวันเตรียมงานตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 บรรดาแม่บ้านช่วยกันทำกับข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวหลาม ข้าวจี่ เพื่อนำไปเซ่นผีฟ้า การเผาข้าวหลามทิพย์จะทำบริเวณลานวัด เวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็น พระสงฆ์ทำพิธีเจริญพุทธมนต์เย็น ในปะรำพิธีที่จัดเตรียมไว้ผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่มีความรู้ด้านการประกอนพิธี จะทำหน้าที่พราหมณ์สวดเบิกบายศรี บูชาเทพยาดา ผีฟ้าแล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องเซ่นสังเวย มารับรู้พิธีกรรม บางท้องที่มีการรำขอพรจากฟ้าเสร็จพิธีแล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ตกกลางคืนก่อนเข้านอน คนแก่คนเฒ่าจะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วกล่าวคำพูดอันเป็นมงคลในทำนองที่ให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน ช่วยมาปกป้องรักษาคนในครอบครัวให้มีความอยู่ดีมีสุข ให้ข้าวปลาอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ เช้าขึ้นเป็นวันกำฟ้า ทุกคนในบ้านรีบตื่นแต่เข้าตรู่ แม่บ้านเตรียมอาหารคาวหวานใส่สำรับไปถวายพระที่วัด ใส่บาตรพระด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะสังสรรค์ด้วยการรับประทานอาหารร่วมกัน ตกเวลาบ่ายไปจนเย็นและกลางคืนมีการละเล่น รื่นเริง เช่น แตะหม่าเบี้ย เส็งคลอง เซิ้งนางด้ง เซิ้งนางกวัก เซิ้งนางสะ ฯลฯ สำหรับการเซิ้งต่างๆ เป็นการเล่นที่เกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผี ประกอบการร้องรำอย่างสนุกสนาน ในวันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงานหนึ่งวัน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน”เหล็กบ่เฮ้อต้องฆ้องบ่เฮ้อตี” (เฮ้อ = ให้, ต้อง = จับ) คงเป็นการป้องกหันมิให้ผู้คนถูกฟ้าผ่าในวันที่มีฟ้าคะนองนั่นเองในวันนี้ไม่มีการใช้งานสัตว์เลี้ยง ห้ามส่งเสียงอึกทึกครึกโครม ผู้ใดฝ่าฝืนเชื่อกันว่าจะถูกฟ้าลงโทษ หลังจากวันกำฟ้า (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) ไป 7 วัน จะมีการกำฟ้าอีกครึ่งวัน และต่อจากครึ่งวันไปอีก 5 วัน จึงถือว่า “กำฟ้าแล้ว” (แล้ว = เสร็จ) ในวันนี้ชาวบ้านจะจัดอาหารคาวหวานไปถวายพระอีกครั้งหลังจากนั้นนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้น ไปทำพิธีที่ลำน้ำ เรียกว่า “การเสียแล้ง” โดยการทิ้งดุ้นฟืนที่ติดไฟนั้นให้ไหลไปตามกระแสน้ำ เป็นการบูชาและระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการรบอกกล่าวแก่เทพยาดาผีฟ้าว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว ส่วนประเพณีกำฟ้าในปัจจุบัน คนเฒ่าคนแก่ที่เคยพบเห็นเป็นประเพณีกำฟ้าในอดีต ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติอย่างแท้จริง ต่างคร่ำครวญถึงความหลัง เสียงหม่าเบี้ยกระทบกระดาน เสียงลำพวนเสียงแคนสลับกับเสียงหัวเราะสนุกสนานเฮอา ซึ่งหาไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ด้วยเสน่ห์ของวันประเพณีกำฟ้าแต่หนหลัง จึงได้มีการจัดงานวันกำฟ้า โดยประยุกต์รูปแบบวิธีการที่เข้ากับยุคสมัย มีการจัดงานกำฟ้ารำลึกขึ้น มีงานกินเลี้ยง สังสรรค์ประกอบเสียงดนตรี มีการแสดงสาธิต การละเล่นพื้นเมืองต่างๆ ส่วนภาคกลางวันมีพิธีการทางศาสนาตามเดิม บางท้องที่จัดงานในรูปของสวนสนุก มีมหรสพต่างๆ เพื่อจัดหารายได้ไปบำเพ็ญสาธารณกุศล เช่น สร้างโรงเรียน ศาลาวัด สถานีอานามัย สะพาน ฯลฯ นับว่าทุกวันนี้ประเพณีกำฟ้าได้แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ได้มีการจัดตั้งชมรมในหมู่บ้านชาวพวน เพื่อรวมตัวกันอนุรักษ์ส่งเสริมฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้านพวน ให้คงอยู่เพื่อชนรุ่นหลัง และชาวต่างชาติ ต่างภาษาได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ของชาวพวนในสมัยดั้งเดิม นับเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง
ขอรุ่นใหม่ทำงานจริงไม่ทิ้งพื้นที่
ขออาสารับใช้ด้วยหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ